สภาการศึกษา เปิด “สภาวะการศึกษาไทยไตรมาสที่ 2 ปี 68” แนวโน้มการศึกษายุค Digital เพื่ออนาคต

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่รายงานสภาวะการศึกษาไทย ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร อาจารย์ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประชุม ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.ประวิต กล่าวเปิดงานและนำเสนอรายงานสภาวะการศึกษาไทยฯ กล่าวว่า การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ โดยไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2568 มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
ประเด็นที่ 1 เหลียวมองการศึกษาและแนวโน้มที่เกิดขึ้น (Education at A Glance and Trends) พบว่า การเชื่อมโยงของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้มีแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ 1) 7 ประเด็นคานงัดพลิกโฉมการศึกษาที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญในช่วงปี ค.ศ. 2025 – 2027 ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา การวางแผนทางการศึกษาที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การสร้างธรรมภิบาลในระบบการศึกษา การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา เส้นทางการศึกษา ปัญหาการขาดแคลนครูและการดึงดูดคนเก่งมาเป็นครู 2) การศึกษา 2040: เป้าหมายใหม่ในโลกดิจิทัล (Education 2040: Teaching Compass) ประกอบด้วย การออกแบบหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ปรับเปลี่ยนการสอน การประเมินผลต้องเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ครูและระบบต้องพร้อม 3) แนวโน้มชี้ทางการศึกษา (Trends Shaping Education) OECD ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น 48 แนวโน้ม แบ่งเป็นด้านความขัดแย้งและความร่วมมือในโลก ด้านการทำงานและความก้าวหน้า ด้านเสียงสะท้อนและเรื่องราว ด้านร่างกายและความคิด
ประเด็นที่ 2 การเสริมพลังทางการศึกษาด้วยกลไกระดับสากล เมื่อเปรียบเทียบภาพรวม (Overall Benchmarking) ใน 5 มิติ คือ มิติที่ 1 คุณภาพการศึกษา: ผลการทดสอบ PISA มิติที่ 2 การเข้าถึงการศึกษา: อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา มิติที่ 3 ความเท่าเทียมทางการศึกษา: ปีการศึกษาที่คาดหวัง มิติที่ 4 ประสิทธิภาพการศึกษา: สัดส่วนของผลการทดสอบ PISA กับงบประมาณด้านการศึกษา และมิติที่ 5 การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง: สัดส่วนของประชากรอายุ 25-34ปี ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยใช้ข้อมูลจาก OECD, IMD, HDI และ UNDP สิ่งที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วนคือ ประสิทธิภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษา และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรายประเด็น (Issues Benchmarking) คือ AI for Education, Literacy, Gifted & Talent, Education Expenditure และ Well being พบว่า ไทยมีจุดแข็งด้านทัศนคติต่อโลกาภิวัฒน์และการปรับตัวต่อความท้าทาย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ยังมีข้อจำกัดอุปกรณ์ดิจิทัล อัตราการรู้หนังสือ การดึงดูด พัฒนาและรักษาบุคคลที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้จำเป็นต้องทบทวนการลงทุนทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่ 3 การเสริมพลังทางการศึกษาด้วยกลไกระดับสากล (Education Engagement) ผ่านการประเมินผลระบบการศึกษาตามมาตรฐานสากล การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล และการมีส่วนร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการศึกษาในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และ WERA พร้อมเตรียมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ครั้งที่ 12 ปี พ.ศ. 2570 เพื่อทำให้ไทยเป็นที่รู้จัก รวมถึงได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศอื่น ๆ
ประเด็นที่ 4 ภาพนโยบายทางการศึกษา (Education Policy Outlook) ต้องเริ่มจากการมีนโยบายที่ดี การออกแบบนโยบายทางการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องใช้รูปแบบ Strategic Foresight คาดการณ์อนาคตเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ โดยการศึกษาต้องคำนึงถึง Resilience และ Well being เป็นอันดับแรก ทั้งนี้จำเป็นต้อง 1) วิเคราะห์หา Trends shaping Thailand Education ปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาไทยทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติในทุกมิติ 2) วิเคราะห์ผล Thailand Monitoring & Evaluation Education Analysis เพื่อหาสภาวการณ์ปัจจุบัน และถอดบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา 3) กำหนด Thailand Education 2040 เป้าหมายระยะยาวที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการศึกษาระดับนานาชาติ และ 4) กำหนด Strategic Foresight ประเมินความเสี่ยงในอนาคต เพื่อทำให้นโยบายทางการศึกษามีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อทุกการเปลี่ยนแปลง
จากนั้นที่ประชุมรับฟังบรรยายพิเศษ “Learning in the Digital World” โดย ดร.ปิยนุช ได้กล่าวถึง การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล ผ่านนโยบายสำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัย และ Human Capital ที่จะเป็นรากฐานอนาคต มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และเพิ่มกำลังคนดิจิทัลในสาขาขาดแคลน และร่วมเสวนา “นโยบายการศึกษาสำหรับการเรียนรู้ในยุค Digital” โดย สกศ. เน้นถึงการมองอนาคต (Foresight) เป็นแนวทางจัดทำข้อเสนอกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ครอบคลุม 4 ด้านหลักและ 8 ประเด็นสำคัญ (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.onec.go.th/th.php/book/BookView/2127 ) ตลอดจนสภาวะการศึกษาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย การขับเคลื่อน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ สมัชชาการศึกษาจังหวัด การศึกษาเท่าเทียม การประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และประเมินการบังคับใช้กฎหมายการจัดการศึกษา เพื่อให้มีข้อมูลที่ต่อเนื่องและทันสมัย อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน พร้อมทั้ง ยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศ และเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาการศึกษาให้มีความยั่งยืนในอนาคต

