สกศ. จัดเวทีหารือกลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ ขยายผลบทเรียน “หาดใหญ่” สู่แนวทางพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ทั่วประเทศ

image

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมี ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องปรารถนา โรงแรมหรรษา เจบี จังหวัดสงขลา

ดร.นิติ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการจัดการศึกษาตามบริบทเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการออกแบบการศึกษาที่ไม่ใช่รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ แต่ต้องอิงกับบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเน้นหลักการ “กระจายอำนาจการจัดการศึกษา” จากส่วนกลางสู่พื้นที่ ให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถบริหารบุคลากร กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ชุมชน และผู้นำท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์ สร้างกลไกร่วมในรูปแบบคณะกรรมการหรือเครือข่ายที่เข้มแข็ง

การอภิปรายและระดมความคิดเห็นในประเด็นกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้ร่วมอภิปรายจากภาคส่วนหลักในพื้นที่ ได้แก่ นางสาวชนภรณ์ อือตระกูล ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ดร.สุนิตา ยิ่งเจริญสมสุข ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาล 3 (โศภณพิทยาคุณานุสรณ์) และนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล เลขาธิการสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ โดยมี ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เนื้อหาการอภิปรายมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกรณีศึกษาของ “เมืองหาดใหญ่” ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning City) ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่บูรณาการกันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พร้อมกับการบูรณาการการใช้เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น ศูนย์สุขภาพชีวาสุข และห้องสมุดมีชีวิต ที่เชื่อมโยงเมืองเข้ากับการเรียนรู้ในชีวิตจริง พร้อมกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นต้นแบบของเมืองที่ใช้ “การเรียนรู้” เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของเมือง 

เวทีครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ สกศ. ในการเสริมสร้างกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สามารถขยายผลสู่พื้นที่อื่นในประเทศ ผ่านการนำไอเดียที่ได้จากการประชุมมาพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมผลักดันการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่การปฏิบัติจริงตามแนวนโยบายของของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “สร้างโอกาสให้คนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด