สกศ. จัดวงหารือผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดแนวทางขับเคลื่อนกฎหมาย ยกระดับการศึกษาเท่าเทียมสู่การปฏิบัติ

image

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การกำหนดแนวทางขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อยกระดับการศึกษาเท่าเทียมสู่การปฏิบัติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย นางปัทมา วีระวานิช ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุมในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ. 

 

นายธฤติ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดการศึกษาไม่ได้มีเพียงในห้องเรียน แต่มีการเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่ทำให้องค์ความรู้นอกห้องเรียนมีมากขึ้น รวมทั้งมีช่องทางการเรียนรู้มากมาย ทำให้การเรียนรู้สามารถเป็นไปได้อย่างเท่าเทียม สอดคล้องตามนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเรียนดี มีความสุข และเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ซึ่งการประชุมในวันนี้จะเป็นการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนไปสู่รูปธรรมต่อไป

จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการศึกษาเท่าเทียมสู่การปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ ให้มุมมองว่า การศึกษาที่เท่าเทียม ก่อนอื่นต้องปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้เรียนทั้งจากสถานศึกษาและส่วนกลางให้ถูกต้องแม่นยำ หลังจากนั้นต้องจัดระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละประเภทและตรงกับความต้องการ รวมทั้งเตรียมหน่วยเฉพาะกิจที่จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น ผู้พิการทางสายตาต้องมีอุปกรณ์การเรียนอย่างคีย์บอร์ดอักษรเบรลล์ รวมทั้งเตรียมเรื่องงบประมาณทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ และสื่อการเรียนได้มากขึ้นเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงศึกษา

ด้านนางปัทมา ได้ยกตัวอย่างของการดำเนินงานอาชีวศึกษาในสภาพแวดล้อมการศึกษาที่ยืดหยุ่น อาทิ แปลงผลการเรียน หรือผลลัพธ์การเรียนรู้เข้าสู่หน่วยกิต มีระบบการสนับสนุนที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน จัดการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนที่ต้องประกอบอาชีพเต็มเวลา สร้างโอกาสการเรียนรู้หลากหลายหลักสูตร/โปรแกรม ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดหย่อน ผ่อนชำระค่าเล่าเรียน และทุนการศึกษา ใช้กลไกธนาคารหน่วยกิตในการโอนผลการเรียนที่ได้จากการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อความความเท่าเทียมจะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน มีรูปแบบ วิธีการ การดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ

ดร.สวัสดิ์ กล่าวว่า การศึกษาในระบบมีกลไกที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา การแก้ไขคือการใช้กฎหมายเพื่อทำให้การศึกษาเกิดความเท่าเทียม ซึ่งการขับเคลื่อนแนวทาง นโยบาย ต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องมีหลักสูตรยืดหยุ่น กระบวนการจัดการยืดหยุ่น ถ้าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. .... ออกมาและสามารถนำไปใช้ได้จริงก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเสมอภาคในการศึกษา

จากนั้นที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเท่าเทียม พ.ศ. ....  ต้องมีการพิจารณาเป้าหมาย กำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดทิศทางกลไกการดำเนินงาน มีการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาที่ตัวบุคคล  พิจารณาหลักสูตรหรือสถานศึกษา มีการนิยามคำว่าการศึกษาเท่าเทียมต้องมีความชัดเจน เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ พิจารณาการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใดหรือไม่ ซึ่งการประชุมหารือในวันนี้จะได้แนวทางเชื่อมโยงการขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อยกระดับการศึกษาเท่าเทียมสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด