บอร์ดอนุฯ กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ เร่งแผนจัดทำกฎหมายพัฒนาเด็กปฐมวัย

image

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 รองศาสตราจารย์ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิ ครั้งที่ 3/2568 โดยมี นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวน์ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 

คณะทำงานประชุมดำเนินการตามขั้นตอนในการจัดทำกฎหมายในระยะเวลา 10 เดือนข้างหน้าดังนี้
1. ทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน ทั้งนี้คณะทำงานดำเนินการรวบรวมศึกษาข้อมูลต่อไป จะดำเนินการจัดทำเป็นงานวิจัยเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือได้
2. พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในการจัดทำกฎหมายให้รอบด้าน เช่น โรงเรียนปฐมวัยต้องไม่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยมีการทบทวนมีการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น การจัดอบรมผู้ปกครอง ครูทั่วประเทศ 
3. การจัดลำดับความสำคัญของงาน พิจารณากฎหมายการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสถาบัน มีการจัดทำประชาพิจารณ์ มีการทำประเมินความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
4. รวบรวมข้อมูล สอบถาม สัมภาษณ์ การสำรวจความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
5. ประชุมทำการยกร่างกฎหมายและยกร่างประกาศ  
6. การทบทวนกฎหมายที่ร่างขึ้น หารือ สพฐ. สมศ. คุรุสภา หน่วยที่จัดการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ 
7. การหารือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อเสนอแนะ หรือปรับแก้ข้อกฎหมาย
8. การจัดพิมพ์ จัดทำเป็นรูปเล่มร่างกฎหมาย
9. การรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ และการปรับปรุง
10.  จัดทำความเห็น หรือข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

นางนภัทร พิศาลบุตร ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้มีความจำเป็นต้องให้มาตรฐานสามารถนำไปใช้ เพื่อตอบประเด็นเหล่านี้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องขนาดและประเภทของโรงเรียนอนุบาล แต่ละหน่วยงานต้องมีการสนับสนุน ในอนาคตมาตรฐานมีการปรับปรุงโดยทำตามมาตรฐานขั้นต่ำ มีการปรับข้อกำหนดให้เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้โรงเรียนสามารถทำได้ตามมาตรฐาน ส่วนเรื่องระบบการประเมินตนเองนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือและชัดเจน สามารถนำมาเชื่อมโยงวิเคราะห์ และนำระบบไปพัฒนาเพื่อปรับปรุงมาตรฐานต่อไป

นางนันทพร นามแสง ผู้อำนวยการสถานศึกษาเอกชน ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ว่า ครูผู้สอนที่ไม่ได้จบสาขาปฐมวัยจำเป็นต้องได้รับการอบรมวิชาการดูแลเด็กปฐมวัย ส่วนครูผู้สอนที่จบปฐมวัยจะต้องได้รับอบรมการจัดการปฐมวัย และผู้อำนวยการโรงเรียนต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมการดูแลเด็กปฐมวัย โดยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทั้ง 4 ด้านอย่างสมดุล ซึ่งส่วนมากจะไปทางด้านสติปัญญา ส่วนด้านร่างกายและอารมณ์จิตใจยังขาด และครูผู้สอนต้องมีการจัดกิจกรรมให้เด็ก ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องประเมินเด็กตามสภาพจริงและอิงจากพัฒนาการเด็กเป็นสำคัญ

การดำเนินการเพื่อเสนอออกกฎหมายการศึกษาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย เช่น ทำอย่างไรให้เด็กที่หลุดกลางคันได้เข้ารับการศึกษาต่อ การสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง การเสนอออกกฎหมายหรือมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็น ส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานให้มีการบูรณาการร่วมกันอย่างทั่วถึง มีการติดตามรายงานความก้าวหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมสัมมนา อบรมให้ความรู้ จัดทำคลิปเผยแพร่การดูแลเด็ก ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเสนอแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิ ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อพิจารณาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 นี้

สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิ ครั้งที่ 4/2568 จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2568

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด