สกศ. นัดถกผู้ทรงคุณวุฒิ วางแนวทางจัดทำยุทธศาสตร์ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้

image

วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลผลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Outcome) โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ด้านพัฒนาวิชาชีพ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวดี ถังคบุตร รองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา อดีตนักกลยุทธ์อาวุโส Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ดร.นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการ (ปฏิบัติการพิเศษ) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโปรแกรม SEAMEO STEM-ED อาจารย์สรณ์ชัย ศิริจันทรัตน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม  พร้อมด้วยนายวีรพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ข้าราชการและบุคลากร สกศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สกศ.

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สกศ. ดำเนินการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Outcome) เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานด้านการศึกษาจำนวนมาก เช่น UNESCO OECD UNICEF WEF ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งพบว่าทุกเป้าหมายทางการศึกษานำไปสู่การทำให้ผู้เรียนมีผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศไทยมีแนวคิดในการกำหนดเป้าหมายการศึกษาไทย 2030 (Thailand Education 2030 : Well-being Compass) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเน้นให้ความสำคัญกับมิติการพัฒนาการศึกษา 5 ด้าน ประกอบด้วย คุณภาพ การเข้าถึง ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้ผู้เรียนในปี 2030 มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตและมีงานทำควบคู่กับการมีชีวิตที่ดี 

โดยกรอบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลผลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ประกอบด้วย 1. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา 2. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 3. การทดสอบและประเมินผลทางการศึกษา 4. การบริหารจัดการทางการเงินเพื่อการศึกษา และ 5. การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและการศึกษาพิเศษ 

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีความคิดเห็นหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ควรสร้างสมดุลในการพัฒนาผู้เรียนระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีกับผลลัพธ์การเรียนรู้, Well-being ของผู้เรียนจะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และการวางแผนทางการศึกษาควบคู่ไปกับ Learning outcome การประยุกต์ใช้ AI เพื่อการศึกษาทำให้เด็กมีการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ควรปรับรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและการศึกษาพิเศษควรมีการปรับปรุงระบบการค้นหา และพัฒนาระบบฐานข้อมูลและติดตามผล ใช้ข้อมูลพื้นที่มาช่วยออกแบบนโยบายเพื่อเป้าหมายในการยกระดับคะแนนโอเน็ตในจังหวัดที่สัมฤทธิผลต่ำ และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้จังหวัด เพิ่มวิชาหลักสูตรทางการเงิน Financial Literacy เป็นต้น

โดยข้อเสนอแนะที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้ สกศ.  จะนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อสร้างกำลังคนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาประเทศในอนาคตต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด