สกศ. ระดมความเห็นภาคีอีสาน พัฒนากฎหมายการศึกษาต่างด้าว–ปฐมวัย–พื้นที่นวัตกรรม

เมื่อวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2568 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว การจัดการศึกษาปฐมวัย และการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว 2) การจัดการศึกษาปฐมวัย และ 3) การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาการจัดการศึกษาของ ภาพรวม และการพัฒนาการจัดการศึกษาของเด็กต่างด้าว เด็กปฐมวัย และการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำไปสู่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพ การศึกษา ให้บรรลุผลสมตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายวีระ พลอยครบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสื่อและการเรียนรู้ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส สพฐ. นายโกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สป. พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมแกลเลอรี่ ดีไซน์ จังหวัดศรีสะเกษ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 อภิปราย “สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กต่างด้าว” พบข้อค้นพบเชิงบวกที่สะท้อนความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในชุมชนต่อผู้เรียนต่างด้าว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมไทย–กัมพูชาที่เกื้อหนุนกัน ทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่พบอุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรมอย่างเด่นชัด ทั้งยังพบกระบวนการและกรณีศึกษาที่ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ในการจัดการเรียนรู้ เช่น การใช้ครูสองภาษา การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองต่างด้าว สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของไทยเป็นระบบที่มีคุณภาพและมุ่งให้โอกาสกับทุกคนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและแนวคิดความเป็นพลเมืองโลก
วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ที่ประชุมร่วมกันอภิปราย “สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาปฐมวัย” สำหรับในประเด็นนี้ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อ “ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562” โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบของการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ หลังจากที่บังคับใช้มาเป็นระยะเวลาห้าปี ซึ่งมีได้กำหนดการประเมินผลสัมฤทธิ์ในมิติต่าง ๆ ของกฎหมาย ที่ประชุมใช้วิธีหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อกฎหมายและเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานเสนอแนวคิดต่อมาตราต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้จริงและเกิดประสิทธิผลสูงสุด การหารือมุ่งเน้นในประเด็นสำคัญ เช่น
การพัฒนาบุคลากรครูและองค์ความรู้ด้านการศึกษาปฐมวัย การกำหนดบทบาทของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนซึ่งควรครอบคลุมทั้งครู ผู้ปกครอง และชุมชน ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันนำเสนอกระบวนการและกรณีศึกษาจากการดำเนินงานจริง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างรอบด้าน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 เป็นการอภิปราย “การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” โดยมีการนำเสนอแนวทางการใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่จริง ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดรูปแบบนวัตกรรมที่สอดรับกับบริบทและตัวตนของแต่ละสถานศึกษา โดยเฉพาะกรณีจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งสะท้อนพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษา ตามคำขวัญ “ศรีสะเกษ แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” ที่เน้นความสามัคคีเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอกรณีศึกษาความสำเร็จจากพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดที่ยังไม่ได้อยู่ในพื้นที่นวัตกรรม เพื่อนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้และบูรณาการในบริบทของตนเอง
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้สะท้อนคุณค่าของการบูรณาการองค์ความรู้ด้านกฎหมายกับบริบทการศึกษาในพื้นที่จริง โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และชุมชน ช่วยให้สามารถระบุปัญหาได้ตรงจุดและร่วมกันพัฒนาแนวทางที่เหมาะสม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น เด็กต่างด้าว ปฐมวัย และพื้นที่นวัตกรรม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกฎหมายในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

