สกศ. จัดเวิร์คช็อป “STRONG INSIDE - SHINE OUTSIDE” เจาะลึกเทคนิคปั้นเด็กไทยรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง

image

วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Strong Inside - Shine Outside : ครูสร้างนักเรียนแกร่งจากภายใน” โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิให้เกียรติเป็นวิทยากร ได้แก่ รศ.ดร.พัชราภรณ์ ศรีสวัสดิ์ ดร.ครรชิต แสนอุบล จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พันตรีหญิง ผศ.นันทิกานต์ กลิ่นเชตุ วิทยาลัยกองทัพบก อาจารย์บดินทร์ นาวงศรี คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และอาจารย์เอื้อทิพย์ คงกระพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมด้วย นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้อง Barn  โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีปัจจัยความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนหรือมีภูมิต้านทานที่ดีในการจัดการกับความคิดที่เผชิญอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและสามารถดึงตัวเองกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นผู้มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์และจิตใจ หรือ เรียกว่า Resilience ซึ่งมักจะมองความท้าทายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ โดยทักษะสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายและก้าวผ่านได้อย่างแข็งแกร่ง เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มี Resilience Mindset ดังนั้น เด็กนักเรียนจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนและดูแลในเรื่องเหล่านี้ วันนี้ผู้เข้าร่วมประชุม จะได้เรียนรู้แนวทางการจัดการอารมณ์และความคิดที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะผ่านกิจกรรมและแผนการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา เสริมสร้างผู้เรียนสามารถเติบโตจากการผ่านประสบการณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตในยุค Digital Transformation ได้อย่างมีคุณภาพ

รศ.ดร.พัชราภรณ์ และคณะ กล่าวว่า ความสำคัญของ Resilience หรือ ความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน มีความสำคัญในบริบทต่าง ๆ เช่น สุขภาพจิต การศึกษา การทำงาน สังคมและความสัมพันธ์ ความสำเร็จในชีวิต และการปรับตัว การพัฒนาตัวเองและการเติบโต ภูมิคุ้มกันในระดับสังคมและองค์กร การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต มีสถานการณ์ปัจจุบันของ Resilience ของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย โดยยกตัวอย่างโครงการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง สำหรับในประเทศไทยนั้น มีโครงการ School Health HERO เป็นระบบแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในโรงเรียน และโครงการ Happy School Project ที่ช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพจิตและการเรียนรู้ของนักเรียน พร้อมระบุองค์ประกอบสำคัญของ Resilience เสนอวิธีการ เทคนิคการสอนที่ช่วยพัฒนาและประเมินทักษะดังกล่าว ผ่านกิจกรรมการรู้เท่าทันอารมณ์ (Emotional Awareness) สำหรับนักเรียนที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอาชีวศึกษา ซึ่งผู้เรียนในแต่ละระดับจะได้พัฒนาการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเองผ่านกิจกรรมเหล่านี้

จากนั้น มีการแบ่งกลุ่ม Workshop ออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับการศึกษา ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ในหัวข้อที่หลากหลายครอบคลุมเทคนิคต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างการกำกับตนเอง (Self-Regulation) ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-Efficacy) การรับมือกับอารมณ์เชิงลบ (Tolerance of Negative Affective) และ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความคิดของครู เทคนิคการดูแลสุขภาพจิต การออกแบบการสอนแบบ Active Learning ความเข้าใจพฤติกรรมเด็ก และการสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกในโรงเรียน ซึ่งเทคนิคเหล่านี้มุ่งเน้นการเสริมสร้าง ความสามารถของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ได้ตรงสภาวการณ์ พัฒนาทักษะความยืดหยุ่นของนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด