อนุฯ ด้านวิจัยหารือแนวทางจัดแฮกกาธอน ปี 69 เน้นแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนในพื้นที่

image

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ มอบหมายนายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา นางสาวช่อบุญ จิรานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา คณะอนุกรรมการฯ ข้าราชการและบุคลากร สกศ. เข้าร่วมประชุมในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออน กราวด์ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.

ที่ประชุมได้สรุปผลการพัฒนาชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) ของเด็กและเยาวชนไทย โดยการนำร่องในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่เข้าร่วมโดยสมัครใจในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ทั้งนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 71 แห่ง แต่จากข้อมูลที่ได้จากสถานศึกษา 36 แห่ง พบว่า การนำร่องชุดทักษะที่จำเป็นผ่านกิจกรรม Active Learning ทำให้นักเรียนมีความเปลี่ยนแปลงของทักษะพื้นฐาน 7 ทักษะในเชิงบวก เช่น ความฉลาดรู้ (Literacy) พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการอ่าน เขียน และเข้าใจข้อความในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น  การคำนวณ (Numeracy) พบว่า นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์และการใช้ตัวเลขในชีวิตประจำวันมากขึ้น ความฉลาดรู้ทางการเรียนรู้ (Learning Literacy) พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการเรียนรู้มากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนรู้และแก้ปัญหาอีกด้วย

กิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อสร้างเสริมและประเมินผลการพัฒนาชุดทักษะที่จำเป็นในกลุ่มผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ ภายใต้ธีม “OEC Hackathon: เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน” นั้น พบว่า แต่ละกิจกรรมทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุดทักษะที่จำเป็นครอบคลุมทั้งทักษะพื้นฐานและทักษะขั้นสูง ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ที่นำไปพัฒนาตัวเองและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

ด้านความก้าวหน้าเรื่องทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ.2568 - 2570 ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ตามที่สกศ. เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ไปใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ทุนและจัดทำงานวิจัยทางการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ThaiCER 2025 สกศ. กำหนดจัดการประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2568 ในระหว่างวันที่ 7 - 8 สิงหาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งได้มีการเปิดรับผลงานวิจัยภายใต้ธีม  “The Education for the Future” ทั้งนี้มีผู้สนใจส่งบทความวิจัยเพื่อคัดเลือกนำเสนอในงาน ThaiCER 2025 จำนวนทั้งสิ้น 152 เรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบทความวิจัยของผู้ทรงคุณวุฒิ และจะตัดสินบทความวิจัยที่ได้นำเสนอในการประชุม ThaiCER 2025 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 นี้

ปิดท้ายที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน ปีงบประมาณ 2569 เช่น เสนอโจทย์ที่ไม่จำกัดประเภทนวัตกรรมและมิติของปัญหา แต่เน้นไปที่การแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้นวัตกรรมที่หลากหลาย และเชื่อมโยงผู้เรียนให้เข้าใจชุมชนในพื้นที่ของตัวเอง ออกแบบกิจกรรมให้ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะเป้าหมาย ทบทวนเกณฑ์การตัดสินให้มีความสอดคล้องกับกิจกรรมและทักษะเป้าหมายใหม่ สร้างโอกาสในการนำ AI เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของพื้นที่ เป็นต้น

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด