สกศ. เปิดวงเสวนาใต้ชายคา สภาการศึกษา : AI กับอนาคตโลกการเรียนรู้

วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดเสวนา “ใต้ชายคา สภาการศึกษา” ครั้งที่ 4/2568 เรื่อง AI กับอนาคตโลกการเรียนรู้ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA) พร้อมด้วย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแพง พลางกูร สกศ.
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ AI ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต สกศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ชี้ทิศทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการบูรณาการการใช้เทคโนโลยี AI เข้าไปในระบบการศึกษา รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่จำเป็นจะต้องลงทุนด้าน AI ให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้าน ดร. รัฐศาสตร์ กล่าวว่า AI มีประโยชน์มากมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ ซึ่งประโยชน์จาก AI ในการพัฒนาการศึกษา มีด้วยกันหลายข้อ เช่น การยกระดับคุณภาพการศึกษา และความเท่าเทียม ช่วยปรับวิธีการเรียนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับการเรียน มีการเรียนการสอนแบบเรียลไทม์ รวมทั้ง AI ยังเป็นเครื่องมือผู้ช่วยครูอีกด้วย ส่วนข้อจำกัดในการใช้ AI มีหลายประเด็นเช่นกัน ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ เครือข่าย ข้อมูล และข้อมูลที่ใส่เข้าไปในระบบ AI ต้องมีความชัดเจนเพียงพอ ความไม่เป็นกลางของ Algorithm
โดยแนวโน้มและข้อเสนอแนะที่จะเกิดขึ้นจาก AI ในระบบการศึกษาภายใน 4 ปี คือ
1. Personalized Learning จะเป็นมาตรฐานการศึกษาของโลก
2. AI จะกลายเป็นเครื่องมือผู้ช่วยครู
3. การทำ Lifelong learning ด้วย AI เพื่อ Re Skill และ Up Skill จะเป็นกระบวนการของทุกองค์กร
4. จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นวาระหลักของโลก
5. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาครู สร้างข้อมูล
6. สนับสนุน AI สัญชาติไทย ที่มีบริบทท้องถิ่น
7. เริ่มส่งเสริม AI ในวิชาหลักอย่างจริงจัง (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษา)
8. สร้างระบบการประเมินผลด้วย AI อย่างเป็นระบบ
9. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา AI สำหรับเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ สกศ. ได้รับความรู้และมุมมองที่หลากหลายในประเด็น AI กับอนาคตโลกการเรียนรู้ ทั้งเทรนด์การศึกษาโลก แนวโน้มการศึกษาในอนาคต รวมทั้งข้อแนะนำในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

