สกศ. X ภาคีสมัชชาฯ ชู Learn to Earn x Learning City ช่วยลดเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพการศึกษา

image

วันที่ 22 - 23 พฤษภาคม 2568 นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมยกระดับกลไกการมีส่วนร่วม “สมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค” (Regional Education Assembly) ครั้งที่ 3 : ภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และตะวันตก โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และบุคลากรทางการศึกษาจากภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และตะวันตก ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

นายทวี กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน เป็นแนวคิดสำคัญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดไว้ใน หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเล็งเห็นถึงประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในโลกปัจจุบัน คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้เชิงพื้นที่ให้มั่นคงและยั่งยืน

ดร.ภูมิพัทธ บรรยายในช่วง OEC Talk สร้างแรงบันดาลใจ “สภาการศึกษา : เปิดแนวคิด พิชิตปัญหาการศึกษาในพื้นที่ ด้วยการพัฒนากลไกขับเคลื่อนสมัชชาสภาการศึกษา” กล่าวว่า สมัชชาสภาการศึกษา เป็นหัวใจของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพราะพื้นที่ย่อมรู้สภาพปัญหาและเข้าใจความต้องการของตนได้ดีที่สุด ดังโดยการบูรณาการความร่วมมือที่เข้มแข็งของคนในพื้นที่ ในปี พ.ศ.2568 สภาการศึกษาได้ตระหนักถึงพลังความร่วมมือในการยกระดับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จึงขับเคลื่อน “สมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค” เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการรับฟังข้อคิดเห็น และนำมติร่วมกันของแต่ละภูมิภาคเสนอเข้าคณะกรรมการสภาการศึกษา สู่ปรับปรุงนโยบายด้านการศึกษาให้ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ต่อไป

ต่อมาได้ร่วมรับรอง 2 มติสำคัญ ประกอบด้วย 1) การสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ (Learn to Earn) เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นว่าควรเร่งขับเคลื่อน ทั้งในด้านการจัดการศึกษาให้ยืดหยุ่น สามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้ไปสะสมและเทียบโอนสู่การได้คุณวุฒิทางวิชาชีพ ด้านสถานศึกษาควรจัดการศึกษาที่สอดคล้องความต้องการกำลังคนและบริบทพื้นที่ ด้านหลักสูตรควรหลากหลายพร้อมสอดคล้องวิถีชีวิตและบริบทสถานศึกษา จัดหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ ความสำคัญของทักษะและสนับสนุนให้ค้นหาตัวตนในโลกที่เปลี่ยนแปลง และ 2) ระบบนิเวศการเรียนรู้ : ปัจจัยความสำเร็จของเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Learning City) ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนและสร้างผู้นำ พร้อมมีผู้ถ่ายทอดและจัดการองค์ความรู้อย่างมีระบบ โดยกำหนดวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้และประเด็นการเรียนรู้ให้ตรงกับบริบทพื้นที่ พร้อมพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และสนับสนุนการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของจังหวัด

นอกจากนี้ผู้แทนจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ได้แก่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการ สพฐ. และประธานการจัดตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ดร.สุทธิศักดิ์ เพ็ชรผึ้ง รองศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร รศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ผศ.ดร.กอบสุข คงมนัส  อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเสวนา “Growth Together : คิดนอกกรอบ ร่วมลงมือทำ ปั้นอนาคตการศึกษาพื้นที่ เติบโต - ยั่งยืน” สำหรับจุดเริ่มต้นและจุดร่วมที่สำคัญในการดำเนินงานคือการสร้างให้คนในพื้นที่คิดแก้ปัญหาและต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของตน ผ่านการร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมคิด พัฒนา สร้างจุดเด่นในพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในท้องถิ่น จากการร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดกลไกการร่วมมืออย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด