สกศ. เร่งเครื่อง ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญ ระดมไอเดียสร้างการศึกษา รับ Disruption ยุค AI

วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติภายใต้โลกในอนาคตที่เปลี่ยนแปลง (Education under disruption)” โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา ดร.จีระพร สังขเวทัย พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ นางสาวชลิตา ธัญญะคุปต์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสุขภาพจิต สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) องค์การยูนิเซฟ ผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
ดร.นิติ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญและเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ โดยมีการศึกษาเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนกำลังคนที่มีศักยภาพ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ จึงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงและพัฒนาแผนดังกล่าวให้สอดรับกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและพัฒนาการโลก
ที่ประชุมร่วมอภิปราย “แผนการศึกษาแห่งชาติภายใต้โลกในอนาคตที่เปลี่ยนแปลง (Education under disruption)” ในประเด็นการบูรณาการการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการศึกษา และการจัดการศึกษาภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ซึ่งอินเทอร์เน็ตได้เปิดประตูสู่คลังความรู้อย่างมหาศาลโดย AI เข้ามาเป็นประโยชน์กับการศึกษาได้จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และความเข้าใจจากทั้งครูและผู้ปกครอง รวมถึงการเป็นต้นแบบที่ดีด้านพฤติกรรม ศีลธรรม และจริยธรรมให้แก่เด็ก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ยกตัวอย่างการสอนแบบ Project-based ในโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ได้รับการลงทุนสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง และ AI สามารถเข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้อาจทำให้ ช่องว่างทางการศึกษา ขยายกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นปัจจัยสำคัญคือการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นและการส่งเสริมองค์ความรู้ให้เข้าถึงอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ การพัฒนาผู้เรียนจะต้องก้าวทันโลก โดยเน้นทักษะที่จำเป็น เช่น Financial Literacy ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาหลักสูตรและนำไปใช้กับเด็ก และการใช้ Micro-credential ซึ่งจะช่วยย่อยองค์ความรู้ให้มีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ในด้านนโยบาย เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความชัดเจน มี Key Person กำกับติดตาม และหลักสูตรการศึกษาต้องมีความเป็น Agile ที่คล่องตัวโดยยึดจุดเน้นหลักไว้ และสามารถปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับบริบทและความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการประเมินผลที่ต้องมีความตรงไปตรงมา สะท้อนข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอต่อระดับนโยบายได้อย่างแม่นยำและเป็นประโยชน์
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ นำไปประกอบการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้มีความสมบูรณ์และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางให้การศึกษาไทยก้าวสู่โลกอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

