สกศ.นำคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศดูงานโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม

image

           เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554  นางสาววรัยพร  แสงนภาบวร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการศึกษาระหว่างประเทศและคณะ นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 3ท่าน คือ ศาสตราจารย์เฟดเดอร์ริค เหลียง (Federick Leong) อาจารย์/นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (University of Hong Kong)  ศาสตราจารย์บีรินเดอร์จีทคอร์ (Berinderjeet Kaur) อาจารย์/นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ (National Institute of Education – NIE)  ดร.ซูจิน คิม (Dr. Soojin Kim) นักวิจัยจากสถาบันหลักสูตรและการประเมินแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Institute of Curriculum and Evaluation – KICE)  ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม ซึ่งได้รับรางวัลบัณณารสสมโภชโรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ถึง 2 ปีซ้อน คือในปี 2549 และปี 2553 ในโอกาสนี้ นางสุภาณี โลหิตานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม และคณะครูให้การต้อนรับ โดยทั้งสองฝ่ายต่างร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ  อาทิ ขนาดของห้องเรียน วิธีการเรียนการสอน คุณภาพของครู วิธีคัดเลือกครู บทบาทหน้าที่ของครู และวิธีการประเมินผล ซึ่งโดยสรุปต่างเห็นว่า “ครู” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา
          ศาสตราจารย์เฟดเดอร์ริค เหลียง ให้ความเห็นว่าการเรียนการสอนในประเทศเอเชียมีวัฒนธรรมเฉพาะของตน  การเรียนการสอนแบบตะวันตก ครูและนักเรียนจะพูดแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง แต่ในเอเชียนักเรียนจะมีรูปแบบในการเรียนคือฟังมาก คิด แล้วค่อยพูด ดังนั้นความสำเร็จของการเรียนไม่ได้อยู่ที่ปริมาณการพูด แต่อยู่ที่คุณภาพของเรื่องที่พูดมากกว่า   ส่วนขนาดของห้องเรียนนั้น จากงานวิจัยพบว่าในประเทศที่มีนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก คือ ระหว่าง 30 – 40 คน (ไม่เกิน 40 คน) นักเรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีกว่าประเทศที่มีนักเรียนเพียงห้องละ 20 – 25 คน 
          ดร.ซูจิน คิม กล่าวถึงระบบการคัดเลือกครูในประเทศเกาหลี ที่มีผู้สนใจสมัครเป็นครูจำนวนมาก การคัดเลือกจึงเข้มข้น โดย จะรับครูที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและจะรับเฉพาะที่สำเร็จการศึกษาตรงวุฒิ  การสอบต้องสอบ 3 อย่าง คือ 1.สอบวัดความรู้ด้านเนื้อหา  2.สอบการสอน และ3.สอบสัมภาษณ์
         ศาสตราจารย์บีรินเดอร์จีทคอร์ กล่าวถึงการศึกษาในสิงคโปร์ว่า ปัจจุบันการสอนในระดับประถมศึกษาของสิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับการเรียนควบคู่กับการเล่นมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนได้ การสอนจะเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ในประเทศสิงคโปร์ ครูต้องสอน 30-32 คาบต่อสัปดาห์ ต้องเอาใจใส่รับผิดชอบนักเรียนอย่างสูง ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดี ผลการเรียนของเด็กมีผลต่อการประเมินครู เด็กไม่จำเป็นต้องได้เกรด A ทั้งหมดจึงจะถือว่าครูเก่ง แต่ครูต้องแสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามพัฒนาเด็ก  และมีการติดต่อกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่ติดต่อผู้ปกครองจะมีการบันทึกไว้  การประเมินผลครูจะแบ่งเป็นระดับตั้งแต่ A – E ครูที่ได้ E คือ ต้องปรับปรุง ถ้าได้ E ถึง 3 ครั้ง ต้องถูกเรียกเข้ากระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ และอาจถูกตัดสิทธิไม่ให้ประกอบอาชีพครูอีกต่อไป แต่หากผู้ใดมีผลงานดีจะมีโบนัสให้ตามผลการประเมิน  นอกจากนี้รัฐบาลจะพัฒนาครูโดยพัฒนาจากจุดที่เป็นปัญหา และผู้ที่มีฐานะดีในสิงคโปร์จะบริจาคเงินให้โรงเรียนนำไปช่วยผู้ที่มีฐานด้อยกว่า
          ทั้งนี้ยังพบว่าเงินเดือนครูทั้งในฮ่องกง  เกาหลี และสิงคโปร์มีอัตราเงินเดือนสูง  มีเงินโบนัส  และแม้ครูต้องทำงานหนักแต่ก็ทุ่มเทเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการสอนและงานของนักเรียน ไม่ต้องทำงานเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ธุรการจัดทำโดยเฉพาะ
          หลังจากร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้ว ผู้บริหารของโรงเรียนนำคณะวิทยากรชมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ห้องพักครู ห้องสื่อสาระการเรียนรู้แต่ละวิชา และห้องสมุดกลางของโรงเรียนซึ่งได้รับรางวัลโรงเรียนต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตและโรงเรียนห้องสมุดรักการอ่านในปี 2550 ซึ่งจากการเยี่ยมชมวิทยากรชื่นชมว่าเด็กนักเรียนดูมีความสุขในการเรียน และแม้จำนวนนักเรียนในห้องจะมาก ห้องจะแคบไปสักหน่อยและอากาศร้อนแต่นักเรียนก็ตั้งใจ และมีสมาธิในการเรียนดี

 

 ศูนย์ประชาสัมพันธ์การศึกษา สกศ.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด