สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการศึกษา

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการศึกษา วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นางสาวพุฒิสาร์ อัคคะพู ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ  :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนาในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นางสาวพุฒิสาร์ อัคคะพู ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในประเด็น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการศึกษา ท่านจะเล่าถึงในมุมใดบ้างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     สำหรับประเด็นในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายและแผนการศึกษา ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อการศึกษา สกศ. จึงจัดทำโครงการประมวลพระราชดำรัช และพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปัจจุบัน โดยจัดทำหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา”ซึ่งจะรวบรวมพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวกับการศึกษา สกศ. ต้องการรวบรวมเป็นรูปเล่มให้เห็นว่าพระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มพระราชทานแนวพระราชดำริอะไรไว้บ้าง เพื่อที่จะนำมาสานต่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     การดำเนินการจัดทำหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” ถึงขั้นตอนใด
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     คณะกรรมการจัดทำหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” กอปรด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศาสตราจารย์กิติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ)เป็นกรรมการที่ปรึกษา โดยมีเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. กมล รอดคล้าย) เป็นคณะกรรมการ ผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และแต่งตั้งคณะทำงานภายในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์) เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูล และเรียบเรียง (ร่าง) หนังสือเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้ สกศ. กำลังเรียบเรียงต้นฉบับ โดยวางแผนไว้ว่าจะเรียบเรียงประมวลพระบรมราโชวามเป็นทศวรรษ ให้เห็นว่าที่ผ่านมา ๗ ทศวรรษแห่งการครองราชย์ พระองค์ท่านมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาเป็นอย่างไร
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     เรียกได้ว่าเป็น “๗๐ ปีแห่งการครองราชย์”
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     ใช่ค่ะ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     อาจฟังดูเหมือนยาก เพราะว่าระยะเวลาค่อนข้างจะนานถึง ๗๐ ปี และเป็นเรื่องเดียวกัน สกศ. จะมีวิธีในการเลือก และคัดสรรอย่างไร
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     สกศ. ได้ดำเนินการประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์ขึ้นมา รวมพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสในด้านต่าง ๆ โดย สกศ. ตั้งทีมงานคัดเลือก และค้นเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
       
ผู้ดำเนินรายการ :     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญ และส่งเสริมการศึกษาอย่างไรบ้าง
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้ความสำคัญกับการศึกษา พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยทรงมีพระบรมราโชบายส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ในระบบ นอกระบบ การศึกษาพิเศษ การศึกษาสงเคราะห์ และการพัฒนาวิชาการ ทรงมีแนวพระราชดำริชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ในเชิงปฏิบัติ การศึกษามิใช่กิจกรรมที่สิ้นสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายบางประการ การศึกษาต้องให้หลักแห่งวิชาการที่จะช่วยให้แนวทางปฏิบัติบรรลุผล และให้ความรู้ทางปฏิบัติวิชาการในความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ นอกจากนี้ยังทรงเน้นการศึกษาทางธรรมเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องกำกับความคิด และให้ความประพฤติ รู้จักใช้ให้ประสานสอดคล้องกันทั้งสามส่วน จึงจะถูกต้องครบถ้วนและสมบูรณ์ตัวเอง กล่าวคือ การศึกษาจะต้องใช้หลักแห่งวิชาการที่จะช่วยให้แนวทางการปฏิบัติบรรลุผล และให้ความรู้แห่งการปฏิบัติ อันได้แก่ การฝึกฝนปฏิบัติวิชาการให้ความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ และชำนาญ ขออนุญาตอัญเชิญพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ครูใหญ่ และนักเรียนที่เข้าเฝ้าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กล่าวว่า “การศึกษาคือเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาความรู้ ความคิด การประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อการเป็นพลเมืองดีที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ ได้อย่างรวดเร็ว และตลอดไป” ซึ่งพระบรมราโชวาทนี้อยู่ในช่วงทศวรรษที่ ๒
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     หนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” ได้จัดเนื้อหาเป็นหมวดหมู่อย่างไร
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     การจัดแบ่งหมวดหมู่จะล้อตามชื่อหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” โดยที่จะมี ๗ บท เพราะเป็น ๗ ทศวรรษ ทศวรรษละ ๑๐ ปี ภายในนั้นจะเรียงพระบรมโชวาทตามวันเวลา ซึ่งจะมีการคัดกรองจะแบ่งเป็นส่วน ๆ เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับพระราชทานปริญญาบัตร ส่วนที่เกี่ยวกับการพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลได้เข้าเฝ้า ไม่ว่าจะเป็น นักเรียนทุนพระราชทาน คณะครู นักเรียน ฯลฯ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     หนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” กำหนดแล้วเสร็จเมื่อไร
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     ขณะนี้หนังสือฉบับร่างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดย สกศ. กำลังดำเนินการขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อมาประกอบเป็นรูปเล่ม
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     จำนวนของพระบรมราโชวาทเป็นการรวบรวมทั้งหมด หรือว่าเป็นการคัดเลือก จะมีทั้งหมดประมาณกี่องค์ที่อยู่ในหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา”
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     การรวบรวมพระราชดำรัสของพระองค์ท่านในช่วง ๗ ทศวรรษที่ทรงครองสิริราชสมบัติ สกศ. จะดำเนินการคัดกรอง และคัดเลือกจากพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีมากกว่า ๒,๐๐๐ องค์ ให้เหลือ ๙๙ องค์ หรือ ๑๐๙ องค์ เพื่อมาจัดเป็นรูปเล่ม สกศ. จะพยายามรวบรวมพระราชดำรัสให้ครอบคลุม เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยการศึกษาทุกระดับ และทุกประเภท
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     หลังจากหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ไหน อย่างไร
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     เบื้องต้น สกศ. จะมอบหนังสือ “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” ให้กับหน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษา โดยจะดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ และในรูปแบบซีดี หลังจากนั้น สกศ. จะนำลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา www.onec.go.th ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ถ้าหนังสือ  “๗ ทศวรรษใต้ร่มพระบารมี พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” เสร็จเป็นรูปเล่มแล้ว และพร้อมที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจได้เห็นพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาของพระองค์ ท่านสามารถนำมาประชาสัมพันธ์ที่รายการได้ต่อไป
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     ได้ค่ะ สกศ. ต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประทานแนวคิดและพระราชดำริด้านการศึกษาจำนวนมาก สมกับที่กระทรวงศึกษาธิการเคยถวายพระราชสมัญญานาม พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ผอ. กลุ่ม พุฒิสาร์ :     ขอเชิญชวนพวกเราชาวไทยทุกคน ร่วมกันดำเนินตามรอยพระยุคลบาท สืบสานแนวพระบรมราโชวาท และพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาประทานให้ เพราะฉะนั้นทุกคนควรทำให้สำเร็จดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน ท่านอยากให้คนไทยเป็นคนมีความรู้ มีความสามารถ ทำงานได้ แก้ปัญหาได้ รู้จักคิด เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกคน
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณท่าน ผอ.พุฒิสาร์ อัคคะพูผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในวันนี้ ขอบพระคุณและสวัสดีค่ะ
       
      ********************************
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด