ความเป็นอิสระของสถานศึกษา จุดเปลี่ยนการจัดการศึกษา

image

แนวทางการส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษา
 
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา
 
 
          การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้คนมีสมรรถนะรอบด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในสังคมโลก ซึ่งบริบทและทิศทางการศึกษาของประเทศไทย ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติและแผนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อให้คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 โดยมีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษาใน 3 ประเด็น คือ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งความเป็นอิสระของสถานศึกษามาจากแนวคิดการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School - Based Management: SBM) ที่เน้นการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาโดยตรง เพื่อให้สถานศึกษารับผิดชอบและตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระและคล่องตัว ทั้งด้านวิชาการ การบริหารงานบุคคล การเงินและพัสดุ และการบริหารทั่วไป 
 
enlightenedแนวทางการดำเนินงานและการปฏิบัติ
ระดับนโยบาย
          กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดนโยบาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกาศนโยบาย และมอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในกำกับจัดทำแนวการดำเนินงานที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 
ระดับพื้นที่
          คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันที่จะพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระตามโครงการ 
ระดับสถานศึกษา
          ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการคัดสรรเข้าร่วมโครงการ จัดประชุมชี้แจงให้ครูและบุคลากรในสถานศึกษามีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสถานศึกษา ส่งเสริมครูให้ได้รับการพัฒนาสมรรถนะด้านหลักสูตร นวัตกรรม การพัฒนา และการใช้ระบบ E – learning และสมรรถนะด้านการสื่อสาร 
 
enlightenedเงื่อนไขความสำเร็จ
บทบาทระดับนโยบาย
     1. ศธ. โดย รมว.ศธ. ประกาศนโยบายส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ การกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน และมอบหมาย สกศ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในกำกับจัดทำแนวการดำเนินงานที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 
     2. สพฐ. และ สอศ. ดำเนินโครงการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระ โดยจัดประเภท ขนาด ระดับของสถานศึกษา พร้อมคัดสรรสถานศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีสมรรถนะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าร่วมโครงการ จัดประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติของหน่วยงานระดับจังหวัด 
     3. สกศ. เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระ โดยมีโครงการนำร่องสถานศึกษาเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
     4. คณะกรรมการเฉพาะกิจ ดำเนินการร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระ โดยยึดหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน รวมถึงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานระดับพื้นที่ ในการสนับสนุนทรัพยากรและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและมีศักยภาพ
     5. จัดทำแนวทางการจัดสรรงบประมาณไปยังผู้เรียน และการจัดสรรเงินขั้นต้นหรืองบพื้นฐานของสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ ในลักษณะของเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ เพื่อให้สถานศึกษาบริหารได้คล่องตัว พร้อมกับการวิเคราะห์กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เพื่อเสนอให้แก้ไขปรับปรุงต่อไป
     6. คณะกรรมการเฉพาะกิจเสนอหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระ และแนวทางการจัดสรรงบประมาณไปยังผู้เรียน และการจัดสรรเงินขั้นต้นหรืองบพื้นฐานของสถานศึกษาแต่ละประเภทพร้อมแนวทางการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการสภาการศึกษาเห็นชอบ และนำเสนอ รมว.ศธ. พิจารณาเสนอ ครม. อนุมัติต่อไป
 
บทบาทระดับพื้นที่
     7. กศจ. ดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และประธานอาชีวศึกษาจังหวัด กำหนดแนวทางการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระตามโครงการ โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการในระดับจังหวัดรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ 
     8. คณะกรรมการบริหารโครงการ ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ วิเคราะห์ และจัดประเภท ขนาด และระดับสถานศึกษาที่มีลักษณะตรงกับรูปแบบที่กำหนด ประกาศเป็นสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระ (นำร่อง) พร้อมจัดทำขอบข่ายงานบทบาท หน้าที่ อำนาจการตัดสินใจ และความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานตามของหน่วยงานระดับจังหวัด โดยมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ และรายงานความก้าวหน้าไปยังหน่วยงานระดับนโยบาย
 
บทบาทระดับสถานศึกษา
     9. สถานศึกษาที่ร่วมโครงการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อใช้ในการบริหารและจัดการศึกษาที่มีความเป็นอิสระ และจัดทำคำของบประมาณพื้นฐานประเภทอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดอนุมัติ
     10. ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการคัดสรรร่วมโครงการ เข้ารับการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการบริหารและจัดการศึกษาที่มีความเป็นอิสระ และจัดประชุมชี้แจงให้ครูและบุคลากรในสถานศึกษามีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานในการดำเนินงานของสถานศึกษา รวมถึงพัฒนาครูให้มีสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในการจัดกระบวนการเรียนรู้ 
 
-- เงื่อนไขความสำเร็จของการส่งเสริมความเป็นอิสระของสถานศึกษาที่กล่าวมา จำเป็นต้องมีการติดตามประเมินผล เพื่อนำมาวิเคราะห์ และขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ และเสนอปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป -- 
 
 
yesสามารถอ่านบทความฉบับเต็ม เพิ่มเติมได้ที่
 
 
 
 
***********************************************

ติดตาม OEC News สภาการศึกษาheart

- Facebook: https://www.facebook.com/OECSocial

- YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO

- LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews

- Blockdit: https://www.blockdit.com/oecnews

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด