ยุทธศาสตร์การศึกษาจีน สู่ความทันสมัย ปี 2035

image

ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย 2035

 

                                                                                          ขนิษฐา  จิรวิริยวงศ์

สำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ

 

 

วันนี้ประเด็นเด่น สกศ. จะพาทุกท่านมา Update ความรู้ในแวดวงการศึกษากับ #ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัยปี2035 ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เพื่อชี้นำทิศทางไปสู่ความทันสมัยในอีก 15  ปีข้างหน้า ทางการจีนกำหนดให้ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่ต้องบูรณาการไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีจุดมุ่งเน้นที่โดดเด่น 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

 

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,400 ล้านคน (NBS, 2020) แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างชุมชนเมืองในแถบตะวันออกที่เจริญรุ่งเรืองแตกต่างกับชุมชนในถิ่นทุรกันดารแถบตะวันตกที่ยากจน จีนจึงยังอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าจีนเพิ่งเปิดประเทศในปี 1978 หรือเพียง 40 กว่าปี แต่ผู้นำจีนก็สามารถเปลี่ยนจีนจากประเทศที่เคยล้าหลังมาเป็นประเทศที่เจริญรุดหน้าได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในหลายๆ ด้าน  เห็นได้จาก ปัจจุบันเศรษฐกิจของจีนพุ่งทะยานจนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่า GDP อยู่ที่ 14.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (Onlinenewstime, 2020) ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากและกำลังจับตามองความก้าวหน้าอย่างไม่กระพริบ

 

ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หลายประเทศต่างพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จีนก็ยิ่งเร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฯลฯ ปัจจุบัน จีนมีความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีไปไกลเกินความคาดหมายอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพราะผู้นำจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษามาโดยตลอด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในปัจจุบัน คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งกล่าวว่า “การศึกษา คือรากฐานในการพัฒนาประเทศ เราจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่” ก่อนหน้านั้น จีนมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในสมัยประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ราวปี 1993 ต่อมา ได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการศึกษาและเทคโนโลยี” ตามด้วย “แผนการปฏิรูปและการพัฒนาการศึกษาระยะกลางและระยะยาว (ปี 2010-2020)” สมัยประธานาธิบดีหูจิ่นเทา จนกระทั่งมาถึงสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้พัฒนาประเทศไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคต โดยการประกาศ ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย ปี 2035 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2020 เพื่อชี้นำทิศทางไปสู่ความทันสมัยในอีก 15  ปีข้างหน้า ทางการจีนกำหนดให้ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่ต้องบูรณาการการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

 

ยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดนี้ มุ่งเน้นแนวคิดพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1) คุณธรรมนำหน้า 2) พัฒนาคนอย่างรอบด้าน 3) เข้าถึงการศึกษาโดยทั่วถึง 4) เรียนรู้ตลอดชีวิต 5) เรียนรู้ตามศักยภาพ/ความสนใจของผู้เรียน  6) ตระหนักรู้จากภายในสู่การลงมือปฏิบัติ  7) พัฒนาแบบบูรณาการ และ 8) ร่วมสร้างและแบ่งปัน  โดยยึดมั่นการดำเนินงานตาม ‘ลักษณะเฉพาะแบบจีน’ เพื่อบรรลุเป้าหมายไปสู่ความทันสมัย ให้ประเทศจีนมีการศึกษาที่เข้มแข็ง เป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ มีความเข้มแข็งด้านพลังทรัพยากรมนุษย์ มีรากฐานที่มั่นคงสร้างประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย มั่งคั่ง เป็นประชาธิปไตยที่มีอารยธรรม ความสามัคคีและความสวยงามในช่วงกลางศตวรรษที่ 21  

 

“ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย ปี 2035 มีจุดมุ่งเน้นที่โดดเด่น 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ศึกษาแนวคิดสังคมนิยมแบบเฉพาะของจีนยุคใหม่ ตามแนวคิดของผู้นำสีจิ้นผิงที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อนำจีนไปสู่ยุคใหม่ โดยเน้นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก มีการพัฒนาทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ มุ่งเน้นให้ประชาชนร่วมมือกันสร้างชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูประเทศครั้งยิ่งใหญ่และผลักดันให้จีนเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองตามความฝันของชาวจีน โดยการนำแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่ห้องเรียนและเข้าถึงจิตใจของผู้เรียนในทุกระดับการศึกษา

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงระดับโลกด้วยลักษณะเฉพาะแบบจีน โดยการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่เพียบพร้อมด้วยศีลธรรมและสติปัญญา รักษาวัฒนธรรม ปลูกฝังความรักชาติ ส่งเสริมอุดมการณ์และจิตสำนึกทางการเมือง มีจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ เพิ่มความเข้มแข็งด้านคุณภาพ เน้นการศึกษาแบบบูรณาการ โดยส่งเสริมด้านสุขภาพเป็นอันดับแรก ต่อด้วยสุนทรียศาสตร์ จิตวิญญาณในการทำงาน ปลูกฝังทักษะด้านการปฏิบัติ ด้านความร่วมมือและด้านนวัตกรรม ปรับปรุงระบบมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมทุกระดับ/ประเภทการศึกษาและส่งผลสะท้อนไปถึงมาตรฐานระดับโลก

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ผลักดันการศึกษาให้มีคุณภาพสูงในทุกระดับการศึกษา  ยกระดับการพัฒนาการศึกษาโดยรวมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท สร้างระบบการบริหารจัดการและระบบการลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัยทั้งของภาครัฐและเอกชน ยกระดับการศึกษาภาคบังคับ (9 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ปวช.) ให้มีคุณภาพสูง ควบคุมการออกจากโรงเรียนกลางคัน ส่งเสริมการพัฒนาที่สอดรับกันระหว่างมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายกับอาชีวศึกษา ให้ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์ ฟื้นฟูการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เน้นความเท่าเทียมด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานทางการศึกษา โดยสร้างมาตรฐานโรงเรียนด้วยกลยุทธ์ระยะยาว พัฒนาการศึกษาภาคบังคับในเมืองและชนบทบนพื้นฐานความสมดุลทางการศึกษา ส่งเสริมการเข้าเรียนของเด็กอพยพจากต่างถิ่น/เด็กยากไร้ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับเด็กในเมือง มีการขยายเขตเมือง ปรับปรุงระบบความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อขจัดความยากจน จัดการศึกษาพิเศษให้มีประสิทธิภาพโดยบูรณาการทางการแพทย์กับการศึกษาเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่มีความพิการ

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 5: สร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อปวงชน โดยสร้างสภาพแวดล้อมของระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับปวงชน จัดตั้งและปรับปรุงระบบเครดิตธนาคารแห่งชาติ ระบบรับรองผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาพนักงานประจำ บริการสังคมโดยการฝึกอบรมทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จัดหาทรัพยากรทางการศึกษาให้แก่ชุมชน เร่งพัฒนาการศึกษาของผู้สูงอายุทั้งในชุมชนเมืองและชนบท และสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้หลากหลาย

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 6: ยกระดับการบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษ ในระดับอุดมศึกษา กำหนดนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาทุกประเภท/สาขา สร้างกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาชั้นเยี่ยมระดับโลก พัฒนาอัตลักษณ์ของสถาบัน ฯ ปรับระบบการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบใหม่และแบบดั้งเดิม สร้างกลุ่มนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ระดับโลก สร้างเครือข่ายด้านนวัตกรรมแบบครบวงจร ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย การวิจัย และการประยุกต์ใช้ เน้นการวิจัยด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ ปรับปรุงการศึกษาระดับปริญญาตรีในท้องถิ่น  ในระดับอาชีวศึกษา เร่งพัฒนาการอาชีวศึกษาให้ทันสมัย สร้างกลุ่มวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่มีคุณภาพระดับสูง ปรับปรุงโครงสร้างและรูปแบบการอาชีวศึกษาให้เหมาะสม บูรณาการระหว่างการอาชีวศึกษา
กับการพัฒนาอุตสาหกรรม สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ให้เพิ่มประสิทธิภาพการบ่มเพาะและการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีความสามารถในด้านนวัตกรรมชั้นยอด ปรับปรุงแผนการรับนักเรียน/นักศึกษา ข้อเสนอการจ้างงาน งบประมาณ  มาตรฐาน การประเมินผลและอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษาปรับสาขาวิชาและโครงสร้างวิชาชีพได้อย่างทันท่วงที มุ่งเน้นความสามารถด้านทักษะ เทคนิคและการประยุกต์ใช้ สร้าง Think tank ที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน ปรับปรุงระบบการวิจัยเพื่อความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 7:  สร้างกลุ่มครูมืออาชีพและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง กำหนดให้จรรยาบรรณและรูปแบบของครูเป็นเกณฑ์อันดับแรกในการประเมินคุณภาพครู  เลื่อนตำแหน่งครูตามลำดับที่จัดเรียงไว้ในบัญชีคุณสมบัติครู ปรับปรุงระบบคุณสมบัติครู ชื่อตำแหน่งและการประเมินผลงานของครู บ่มเพาะกลุ่มครูที่มีคุณภาพสูง แก้ปัญหาการขาดแคลนครู  ปรับปรุงระบบการศึกษาวิชาชีพครูให้มีลักษณะเฉพาะแบบจีน  ส่งเสริมการประสานงาน โดยกำหนดให้ ‘วิทยาลัยครู’ เป็นหน่วยงานหลัก วิทยาลัยอื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงเข้าไปมีส่วนร่วม ให้โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษาและโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพสูงเป็นฐานปฏิบัติการ รวมระบบพัฒนาวิชาชีพครูทั้งการฝึกอบรมครูก่อนเข้ารับราชการ การพัฒนาครูประจำการ และการพัฒนาวิชาชีพครูโดยอิสระ  ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับปรุงระบบการประกันผลประโยชน์ของครู และกลไกระยะยาวสำหรับเงินเดือนครู กำหนดนโยบายให้เงินอุดหนุนเพื่อการดำรงชีพอย่างเต็มที่ในพื้นที่ที่มีความยากจนเป็นพิเศษ  รวมทั้งยกระดับสถานะวิชาชีพครูในระบบการเมืองและสังคม

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 8: เร่งปฏิรูปการศึกษาในยุคข้อมูลข่าวสาร สร้างวิทยาเขตอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เก่งทางด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมการจัดการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งการฝึกอบรมขนาดใหญ่ และการฝึกอบรมรายบุคคล  ปรับรูปแบบใหม่ในบริการทางการศึกษา สร้างกลไกการแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล การแบ่งสรรผลประโยชน์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูปวิธีการกำกับดูแลการศึกษาและติดตามที่ทันสมัย  ส่งเสริมระบบการจัดการที่แม่นยำและการตัดสินใจตามวิธีทางวิทยาศาสตร์

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 9:  สร้างรูปแบบใหม่ของการศึกษาที่เปิดกว้างสู่ภายนอก  ยกระดับการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและสถาบันวิชาชีพ  การยอมรับในวุฒิการศึกษา มาตรฐานและประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างจีนกับต่างประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาตามโครงการ "Belt and Road" การศึกษาต่อในต่างประเทศ การกำหนดแผน/คุณภาพและกลไกการประกันคุณภาพสำหรับนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาเรียนในจีน การแลกเปลี่ยนบุคลากรระดับสูงของจีนกับต่างประเทศ  การพัฒนา ‘สถาบันขงจื่อ’ และ ‘ห้องเรียนขงจื่อ’ การสร้างโรงเรียนนานาชาติในต่างประเทศ  ให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาสร้าง "Luban Workshops" ในต่างประเทศ ส่งเสริมการวิจัย กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน ระบบการประเมินผลการศึกษาในระดับสากล และปรับปรุงกลไกความช่วยเหลือด้านการศึกษา

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 10: ส่งเสริมความทันสมัยและความสามารถในการกำกับดูแลการศึกษา สร้างระบบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทางการศึกษาให้สมบูรณ์ ยกระดับความสามารถของภาครัฐในการใช้กฎหมาย มาตรฐาน บริการข้อมูลและวิธีการกำกับดูแลยุคใหม่อื่นๆ ปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแลโรงเรียน สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันอุดมศึกษา  ส่งเสริมการปฏิรูประบบโรงเรียนเอกชนยุคใหม่และสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมในการจัดการศึกษา ปรับปรุงการมีส่วนร่วมของสังคมในการบริหารจัดการโรงเรียน ตลอดจนสร้างกลไกการประเมินและการกำกับติดตามการศึกษา

 

ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย ปี 2035 มีวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจนและทันสมัย ดังนี้
1) วางแผนภาพรวมและแบ่งเขตการส่งเสริม โดยแต่ละเขตการศึกษาสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ทันสมัยตามสภาพความเป็นจริงภายใต้กรอบการพัฒนาของแผนแม่บทในเขตการศึกษาของแต่ละเขต  2) ปรับปรุงและออกแบบเป้าหมายการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยคำนึงถึงความทันสมัยและความแตกต่างในแต่ละขั้นตอน 3) มีนโยบายที่แม่นยำและกลไกการประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและภาคตะวันตกที่ยังต้องการการพัฒนา โดยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค 4) เริ่มด้วยการปฏิรูปแล้วต่อด้วยการส่งเสริมอย่างเป็นระบบเพื่อให้โรงเรียนทุกระดับ/ทุกประเภทมีความกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม กล้าทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีความเป็นพลวัต มีประสิทธิภาพและเปิดกว้าง มีระบบและกลไกการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้น 
เพื่อให้ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย ปี 2035 บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย จีนได้สร้างหลักประกันความสำเร็จไว้ 3 ประการ คือ 1) เสริมสร้างความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ด้านการศึกษา กล่าวคือ คณะกรรมการพรรคฯ ทุกระดับต้องนำเรื่องการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาไว้ในวาระการประชุม 2) ปรับปรุงระบบสนับสนุนด้านการศึกษา อาทิ การลงทุนทางการศึกษาระยะยาว โดยจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของ GDP  3) ปรับปรุงกลไกการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการประสานงานข้ามหน่วยงาน การติดตามประเมินผลการพัฒนาการศึกษาและกลไกการกำกับดูแล รับผิดชอบ และประสานงานการส่งเสริมความทันสมัยทางการศึกษาอย่างรอบด้าน

 

จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การศึกษาจีนสู่ความทันสมัย ปี 2035 เกิดจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  ผู้นำจีนที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังซึ่งได้วางแผนไปสู่อนาคตอย่างชัดเจนและผลักดันให้เกิดความพยายามก้าวไปให้ถึงการศึกษาที่ทันสมัยโดยยึดลักษณะเฉพาะแบบจีนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

รายการอ้างอิง

新华社.(2019, February 23). 中共中央、国务院印发《中国教育现代化2035》. Retrieved from

            http://www.gov.cn/xinwen/2019-02/23/content_5367987.htm

新华社.  (2019, June 9).  中共中央发出关于印发《习近平新时代中国特色社会主义思想学习纲要》的通知.

            Retrieved from http://www.gov.cn/zhengce/2019-06/09/content_5398656.htm

光明日报.(2019, July 11). 深刻认识习近平新时代中国特色社会主义思想的核心要义和理论品格.

            Retrieved from http://theory.people.com.cn/n1/2019/0711/c40531-31226804.html

新华社.(2010, July 29).  《国家中长期教育改革和发展规划纲要(2010-2020 年)》. Retrieved from http://www.gov.cn/jrzg/2010-07/29/content_1667143.htm

新华社网.  (2020, January 17). 中国大陆人口突破 14 亿. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/ 2020-01/17/c_1125474664.htm

百科. (2020). 鲁班工坊. Retrieved from https://www.baike.com/wiki/%E9%B2%81%E7%8F%AD%E5%B7%A5%E5%9D%8A?view_id=3x8qq31pwzs000

Onlinenewstime. (2563, 24 มกราคม). จัดอันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปี 2019.

            สืบค้นจาก https://www.onlinenewstime.com

กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี. (2019). Belt and Road Initiative เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว?

            สืบค้นจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/6095

 

 

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด