สรุปผลการประชุมสามัญประจำปี IEA ครั้งที่ 61

image

สรุปผลการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 61
ของสมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ
Virtual 61st General Assembly of International Association for the Evaluation of Education Achievement : IEA
ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓

          สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ (The International Association for the Evaluation of Education Achievement : IEA) จัดประชุมสามัญขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม การบริหารงานโครงการที่สำคัญ และสถานะทางการเงินของสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไป ต่อคณะผู้บริหารสมาคม (Standing Committee) และ ประเทศสมาชิก การประชุมสามัญประจำปียังเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้พบปะหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาคมในทุกๆ ปี และเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิก (Country General Assembly: GA) พบปะหารือและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เข้าร่วมการประชุมข้างต้นในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคม IEA ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ สำหรับการประชุมในปีนี้จัดขึ้นเร็วกว่าธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งปกติจะจัดการประชุมในช่วงต้นถึงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ แต่ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ กันยายน และ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ และ พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยการประชุมครั้งนี้ รายนามคณะผู้แทนสำนักงานฯ ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุม  ได้แก่
          ๑.    นางสาวสมถวิล กาญจนาพงศ์กุล    ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฯ
          ๒.    นายปานเทพ ลาภเกษร    ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือกับต่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะผู้แทนฯ
          ๓.    นายสิงหชาต ไตรจิตต์        นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการฯ
          ๔.    นางสาวจุฑามาส ตั้งจิตบำรุง    นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการฯ

          สาระสำคัญของการประชุมข้างต้น สรุปได้ดังนี้

เรื่องทั่วไป
          ๑. สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ หรือ IEA ได้จัดการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ ๖๑ ในรูปแบบทางไกล (Virtual GA) แทนการเดินทางไปประชุมตามกำหนดการเดิม ณ ประเทศโครเอเชีย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ทั้งนี้ การจัดประชุมในรูปแบบข้างต้นเกิดขึ้นโดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคณะผู้บริหารสมาคมฯ (Standing Committee) และผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมด (GA) เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในธรรมนูญของสมาคม (IEA Statues) ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีการประชุมในสถานที่จริงได้  ในการประชุมสามัญสมัยพิเศษผ่านระบบทางไกล (Extra Virtual GA) เมื่อวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ การประชุมสามัญสมัยที่ ๖๑ มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน ๑๑๐ คน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคม (Standing Committee) ผู้แทนประเทศสมาชิก (GA) ผู้แทนประเทศผู้สังเกตการณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยนานาชาติต่างๆ และ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ

          ๒. ที่ประชุมมีมติรับรองผลการประชุมสามัญ สมัยที่ ๖๐ ณ กรุงลูบลิยาน่า ประเทศสโลวีเนีย และได้มีมติรับรองประเทศเซอร์เบียเข้าเป็นสมาชิกลำดับล่าสุดของสมาคมฯ

การรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติ

          ๑) โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS)
               ๑. หัวหน้าโครงการ ICCS วงรอบปี 2022 ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานว่ามีประเทศที่เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศ โดยได้มีการกำหนดกรอบการดำเนิน (framework) และตารางการดำเนินงานในวงรอบปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว และเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ได้มีการประชุมอบรมเจ้าหน้าที่ประสานงาน (National Research Center: NRC) เพื่อทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่ครั้งที่ ๑
               ๒. โครงการฯ ในวงรอบปี 2022 ได้กำหนดประเด็นมุ่งเน้นเพื่อการประเมินที่แตกต่างจากวงรอบอื่น โดยประเด็นที่มุ่งเน้นในวงรอบปี 2022 มี ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งอิงตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ ๔ ประเด็นที่ ๔.๗ (UNSDG 4.7) (๒) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (๓) ความหลากหลาย (Diversity) ตามบริบทของภูมิภาคต่างๆ ในโลก และ (๔) ทัศนคติของเยาวชนต่อระบบทางการเมือง และยังได้กำหนดประเด็นที่ควรตระหนักถึงให้มากขึ้นคือ ความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมประเด็นการประเมินที่อ้างอิงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 อาทิ ทัศนคติของผู้เรียนต่อข้อห้ามต่างๆ ในช่วงของการกักตัวตามคำแนะนำทางสาธารณสุข เป็นต้น

          ๒) โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS)
             ๑. โครงการ TIMSS วงรอบปี 2019 มีความก้าวหน้าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนด สถานะล่าสุดคือการวิเคราะห์และจัดทำรายงานเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีกำหนดเปิดตัวรายงานร่วมกับองค์การ UNESCO และสหภาพยุโรป ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในระหว่างนี้ผลของโครงการ TIMSS วงรอบปี 2019 ที่ได้รับทราบจากการประชุมสมัยสามัญยังไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้ตามหนังสือสัญญาที่เลขาธิการสภาการศึกษาในขณะนั้น (ดร.สุภัทร จำปาทอง) ได้ลงนามว่าด้วยการห้ามเผยแพร่รายงานผลโครงการ TIMSS วงรอบปี 2019 จนกว่าจะมีการแถลงข่าวในเดือนธันวาคม ศกนี้


             ๒. โครงการ TIMSS วงรอบปี 2023 อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับสมัครประเทศที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยเข้าร่วมโครงการข้างต้น ในวงรอบปี 2015 โดยการดำเนินงานในวงรอบปี 2023 คาดว่าจะประเมินด้วยระบบดิจิตอล (eTIMSS) ทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะการดำเนินงานในวงรอบปี 2019 พบว่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการมากกว่าครึ่งดำเนินการประเมินผ่านระบบ eTIMSS อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเตรียมการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการประเมินไปสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ สมาคมฯ ก็ยังคำนึงถึงประเทศที่ยังไม่มีความพร้อม โดยจะดำเนินการเพิ่มความสามารถของระบบซอฟต์แวร์การประเมินผลเพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบและการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้งานระบบ eTIMSS นอกจากนี้ ในการดำเนินงานในวงรอบปี 2023 จะมีหุ้นส่วนการดำเนินงานเพิ่มเติม ทั้งด้านผู้จัดทำโปรแกรมการประเมิน สถาบันเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง บริษัทผู้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการประเมิน เพื่อให้การดำเนินงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น

          ๓) โครงการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS)
              ๑. โครงการ PIRLS วงรอบปีปัจจุบันคือปี 2021 มีการดำเนินงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งในแบบกระดาษและดิจิทัลประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการปิดสถานศึกษาด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ตามแผน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการจึงได้ประกาศให้เลื่อนกำหนดการในการเก็บข้อมูลออกไปจนถึงกลางปี 2021 ทั้งนี้ สถานะโดยรวมของโครงการได้แก่ กำหนดการ งบประมาณ และการวางแผนการทำงานยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

         ๔) โครงการศึกษาระดับนานาชาติว่าด้วยการฉลาดรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS)
              ๑. การดำเนินโครงการ ICILS วงรอบปี 2023 ยังดำเนินไปตามกำหนดการ ขณะนี้ ร้อยละ ๗๕ ของประเทศที่เข้าร่วมดำเนินการได้ชำระค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมได้ปิดลงเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ที่ผ่านมา
              ๒. ประเทศในทวีปยุโรปจำนวน ๑๘ ประเทศได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในการเข้าร่วมโครงการในวงรอบปี 2023 และสมาคมฯ ยังคงเปิดรับสมัครประเทศอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
              ๓. ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารได้มีมติให้โอน Study Center ของโครงการ จากเดิมที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ACER มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสมาคม IEA อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระงับความขัดแย้งระหว่าง โครงการ ICILS และ โครงการ PISA Core 4 ขององค์การโออีซีดี ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ACER เหมือนกัน

          ๕) โครงการ Responses to Educational Disruption Survey (REDS)
              ๑. โครงการ Responses to Educational Disruption Survey (REDS) เป็นความร่วมมือกันระหว่างสมาคมฯ สหภาพยุโรป และ องค์การยูเนสโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความพร้อมของระบบการศึกษา
ของประเทศต่างๆ ในการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทางการศึกษา โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 โดยมุ่งเก็บข้อมูลในระดับโรงเรียนเพื่อให้ได้ภาพที่แท้จริงของการเรียนการสอนในสถานการณ์โรคระบาดโดยมีแผนการที่จะเริ่มเก็บข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๓ และจะเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โครงการ REDS เดิมเป็นโครงการที่ไม่มีค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากหน่วยงานผู้ให้ทุนสนับสนุนไม่สามารถให้ทุนสนับสนุนได้ ดังนั้น ประเทศที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมการดำเนินโครงการเป็นจำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ
              ๒. ปัจจุบันมีประเทศที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน ๖ ประเทศ (บูกินาฟาโซ เดนมาร์ก สโลวีเนีย รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ยูกันดา) และยังมีอีก ๑๘ ประเทศที่อยู่ขั้นตอนการตัดสินใจสุดท้าย โดยได้มีการประชุมผู้ประสานงานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓

          ๖) โครงการ 21CS Map
             โครงการ 21CS Map เป็นโครงการวิจัยนานาชาติโครงการใหม่ของ IEA ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ อธิบาย เพื่อจัดทำแผนที่ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) ซึ่งระบบการศึกษาต่างๆ ทั่วโลกปลูกฝังและบ่มเพาะทักษะที่จำเป็นผ่านการจัดทำหลักสูตรให้แก่ผู้เรียน ของตนโดยนำไปผนวกในหลักสูตรการศึกษาของผู้เรียนระดับชั้น ป.๔ และ ม.๒ โดยโครงการข้างต้นได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ซึ่งปัจจุบันสถานะการดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนดเป็นระยะเวลา ๖ เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19


(ตัวอย่างของทักษะที่ประเทศต่างๆ บรรจุในหลักสูตรการศึกษา)

             โครงการ 21CS Map ยังคงเปิดรับสมัครประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ จำนวน ๑๙,๐๐๐ ยูโรเมื่อแรกเข้าโครงการ และส่วนที่ ๒ จำนวน ๑๙,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ประเทศที่เข้าร่วมยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการบริหารจัดการโครงการภายในประเทศเองด้วย อาทิ ค่าแปลภาษา ค่าเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้ประสานงาน เป็นต้น

การบรรยายพิเศษระหว่างการประชุมในหัวข้อ สมาคม IEA กับการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

            การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๖๐ ของสมาคม IEA ได้มีการแสดงเจตจำนงที่จะช่วยเหลือและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยให้คำมั่นว่า การรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๔ คุณภาพทางการศึกษานั้น จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลซึ่งมาจากวิธีการดำเนินงานที่ทำได้จริง
            สมาคม IEA ตระหนักถึงความท้าทายของการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งไปที่คุณภาพของข้อมูล ความท้าทายที่สมาคมฯ มองว่ามีความจำเป็นคือ การรายงานผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดต่างๆ ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความทันสมัยและเหมาะสมต่อสถานการณ์ ตัวชี้วัดใดที่ไม่สามารถวัดผลได้จริงหรือไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถวัดผลได้ก็ควรที่จะถอนออกเพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบจากการนำรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือไปเป็นใช้ประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายการศึกษาของประเทศต่างๆ
            วิธีการของสมาคมฯ ที่สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การสนับสนุนโดยการรายงานผลของโครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติของสมาคมฯ ที่ดำเนินการอยู่ อาทิ TIMSS PRILS ICILS และ ICCS เป็นต้น การจับคู่โครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติของสมาคมฯ กับ โครงการวิจัยและประเมินผลในระดับภูมิภาค ที่มีลักษณะการดำเนินงานในแบบเดียวกัน
            โครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติของสมาคมฯ ที่ดำเนินการอยู่ มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดในเป้าหมายที่ ๔ ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ โครงการ TIMSS และ PIRLS ซึ่งประเมินการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณของผู้เรียนในระดับประถมศึกษา สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ ๔.๑.๑ ร้อยละของเด็ก/เยาวชนใน: (ก) ระดับชั้น ป. ๒ หรือ ป. ๓ (ข) ป. ๖ และ (ค) ม. ๓ ที่มีความสามารถตามเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นอย่างน้อยใน (๑) ด้านการอ่าน และ (๒) ด้านคณิตศาสตร์หรือการคิดคำนวณ จำแนกตามเพศ ในเป้าประสงค์ที่ ๑ ของเป้าหมายที่ ๔ คุณภาพทางการศึกษา / โครงการ ICLIS ซึ่งประเมินทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ ๔.๔.๑ สัดส่วนของเยาวชน/ผู้ใหญ่ที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จำแนกตามประเภททักษะในเป้าประสงค์ที่ ๔ ของเป้าหมายที่ ๔ คุณภาพทางการศึกษา เป็นต้น
            ประเทศโครเอเชีย (Croatia) ได้รับคำเชิญจากสมาคมฯ ให้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติของประเทศเกี่ยวกับการนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมาสู่การปฏิบัติ โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการสร้างความรู้ให้แก่ ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน ผ่านทางการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา และการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) การจัดทำเว็บไซต์ของประเทศเพื่อประสานงานกิจกรรมระดับชาติเพื่อการผลิต พัฒนา และเผยแพร่ ตัวชี้วัดของประเทศเพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การติดตามสถานะและความก้าวหน้าของตัวชี้วัดของประเทศโดยภาคประชาชน การจัดทำ platform เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอิงตาม platform ของสหประชาชาติ

เรื่องอื่นๆ
          การประชุมสามัญประจำปีครั้งต่อไปซึ่งเป็นสมัยที่ ๖๒ มีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ (ยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน) ซึ่งสมาคมฯ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลา และ สถานที่จัดประชุมให้ทราบต่อไป

ข้อเสนอแนะจากการประชุม
           สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของสมาคม IEA ในประเทศไทย ในการประสานงานและส่งเสริมให้หน่วยงานวิจัยและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนานาชาติของสมาคมฯ มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรแสดงบทบาทโดยการเข้าร่วมโครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติของสมาคมฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ได้เคยเข้าร่วมการดำเนินงานมาแล้ว อาทิ โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS) และโครงการศึกษาระดับนานาชาติว่าด้วยการฉลาดรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS)นอกจากนี้ ยังรวมถึงการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมโครงการวิจัยนานาชาติที่ริเริ่มขึ้นใหม่
            สำนักงานฯ ควรเผยแพร่ผลการประชุมสมัยสามัญที่ได้เข้าร่วมไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานวิจัยและประเมินผลจัดการศึกษาของประเทศไทยได้รับทราบความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมใหม่ๆ จากโครงการวิจัยนานาชาติของสมาคมฯ โดยการเผยแพร่องค์ความรู้จากการประชุมผ่านสื่อประเภทต่างๆ เพื่อให้ตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมการประชุมและการเป็นสมาชิกของสมาคม IEA และการประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อรส่งเสริมให้หน่วยงานนั้นๆ ได้รับทราบข้อมูลโครงการวิจัยนานาชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมโครงการวิจัยนานาชาติของสมาคม IEA

ผู้จดและสรุปผลการประชุม
นางสาวจุฑามาส ตั้งจิตบำรุง
นายสิงหชาต ไตรจิตต์
ผู้ตรวจสรุปผลการประชุม
นายปานเทพ ลาภเกษร
นางสาวสมถวิล กาญจนาพงศ์กุล

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด