สกศ. สังเคราะห์ผลวิจัยผลักดันผลิตครูะบบปิด แนะเปิดอคาเดมีครู หลอมจิตวิญญาณวิชาชีพเติมทักษะ Educator

image

วันนี้ (๒๕ เมษายน ๒๕๖๕) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง การประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทย พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเมแฟร์ บอลรูม A ชั้น ๑๑ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ภายใต้การเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid-19)

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ครู นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษาของประเทศ ครูที่ดีและมีคุณภาพจะสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดีของสังคมได้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ร่วมมือกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทัศน์ รัตนมณีฉัตร จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และคณะทำงาน จัดทำ (ร่าง) รายงานการประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทย เพื่อยกระดับการศึกษาของชาติและสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน

 

ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) ผลการประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิต รองศาสตราจารย์ ดร.กมลวรรณ  ตังธนกานนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราทัศน์  รัตนมณีฉัตร จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีรูปแบบการผลิตครู ๒ รูปแบบ ได้แก่ ระบบเปิด (ผลิตสนองความต้องการของสถานศึกษาตามเป้าหมายการผลิตครูของประเทศ) และระบบปิด (ผลิตจำนวนจำกัดตามความต้องการใช้จริงของหน่วยงานผู้ใช้ครู) ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งสถาบันอุดมศึกษาผลิตครูมากเกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการ นอกจากนี้รัฐบาลขาดความต่อเนื่องด้านนโยบายการผลิตครู และลงทุนการผลิตครูต่ำกว่าวิชาชีพอื่นทำให้ไม่สามารถจูงใจให้คนเก่งเข้ามาเรียนครูได้

โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสถาบันมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ครูที่ผลิตโดยรูปแบบปิดมีคุณภาพและได้มาตราฐานมากกว่าระบบเปิด อีกทั้งได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้มีระบบฐานข้อมูลประเมินความต้องการครูแต่ละสาขา พัฒนาครูของครู (Teacher Educator) ให้มีความสร้างสรรค์และความรู้ลึกในสาขาวิชาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท ซึ่งรัฐต้องดำเนินการคัดกรองและหามาตรการจูงใจคนเก่งเข้ามาเป็นครูเพื่อให้ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการ ผลิตครูวิชาชีพชั้นสูงเพื่อปฏิรูปและพัฒนาประเทศโดยลดระบบการผลิตครูแบบเปิดให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๒๐ และเพิ่มระบบปิดโครงการพิเศษให้ได้ร้อยละ ๘๐ ของความต้องการ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเป็นระบบปิดทั้งประเทศภายใน ๑๐ ปี

ด้าน ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เสริมความเห็นว่า กลไกการผลิตและพัฒนาครูที่สำคัญต้องมีสถาบันผลิตและพัฒนาครู (Teacher Academy) เพื่อหล่อหลอมและคัดกรองคนที่จะเข้ามาเป็นครูที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู รวมทั้งการฝึกปฏิบัติจริงมีทักษะใหม่ๆ สอดรับการเปลี่ยนผ่านยุคจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อสามารถค้นหาตัวตนและทักษะเด่นของผู้เรียน อาทิเช่น SAM (Sport Art Music) นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจแบบฉลาด (Soft Power) ดึงจุดเด่นของเด็กและนำมาพัฒนาต่อยอด สร้างให้เป็นพลเมืองคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้แต่ต้องฝึกคนเป็นครูให้สามารถสร้างเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้

ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ไปปรับแก้ (ร่าง) รายงานการประเมินระบบการผลิตครูในประเทศไทยให้ถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบการผลิตครู และเป็นแนวทางในการปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษาผลักดันเป็นนโยบายเพื่อยกระดับการศึกษาของชาติต่อไป  

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด