Kickoff! เด็กไทย 2025 เพื่อเศรษฐกิจไทย

image


     *สกศ.บิ๊กดีลหอการค้า-สภาอุตฯ-ทูตต่างชาติ
     #ผนึกหุ้นส่วนวิน-วินบัณฑิตแมตชิ่งตลาดงาน

 


     วันนี้ (2 ธันวาคม 2564) ที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ ฯ // สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเครือข่ายการศึกษาและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เรื่อง "ทิศทางการศึกษาไทยกับการพัฒนากำลังคนในศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน" (International Economic Partnership and Educational Networking Conference on "The Direction of Education and Human Resources Development of Thailand in the 21st Century for the Changing in the VUCA World of Work) ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมและมอบนโยบายทิศทางการศึกษาไทยในปัจจุบัน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ "ยุทธศาสตร์เพื่อการศึกษาสากลและการพัฒนาทุนมนุษย์" (Strategies for Internationalized Education and Human Development) เพื่อถ่ายทอดแนวคิดด้านการศึกษาปัจจุบันต่อยอดกำลังคนอนาคต และสื่อสารทำความเข้าใจถึงผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้แทนเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยที่มาร่วมงาน โดยสำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook live และ YouTube : OEC News สภาการศึกษา

 


วิษณุย้ำทุกฝ่ายคือหุ้นส่วนประเทศ
     ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวความสำคัญตอนหนึ่งว่า โลกแห่งความผันผวน (VUCA World) เป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ส่งผลต่อภาคธุรกิจใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาทดแทนกำลังคน ขณะที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างวิถีความปกติใหม่ (New Normal) ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน รวมทั้งระบบการศึกษาอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความผันผวนสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มเป็นสังคมสูงวัย จำนวนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับทักษะกำลังคนให้สามารถทำงานอย่างมีผลิตภาพสูง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาชีพรูปแบบใหม่ให้กับกำลังคนที่ได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับการศึกษาและปรับเปลี่ยนกำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็น สามารถปรับตัวให้ดำรงชีวิตในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

     "ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพัง แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะจากภาคหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนา และเป็นผู้มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางความต้องการของทักษะกำลังคนอย่างแท้จริง และหวังว่าการประชุมวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายการศึกษากับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจให้มีความร่วมมือระหว่างกันต่อไป" ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว

 


มองโลกVUCAเรียนรู้Megatrends
     นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญภายใต้กระแสโลกแห่งความผันผวนที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในทุกมิติทั้งเทคโนโลยีและการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงต้องปรับเปลี่ยนทั้งการศึกษาและการทำงานทิศทางและรูปแบบการศึกษาทุกระดับและประเภทเพื่อให้สามารถพัฒนากำลังคนให้มีความยืดหยุ่นเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ของโลกที่ผันผวน สามารถเข้าถึงโอกาสในการทำงาน และรองรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลซึ่งส่งผลถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ 

 

     รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 กำหนดวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาว่า "คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" เป็นการจัดการศึกษาเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวและการพัฒนากำลังคนให้สามารถดำรงชีวิตในโลกที่ผันผวนได้นั้นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับ อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการกำหนดความต้องการทักษะที่จำเป็นในโลกของการทำงาน 

     "การประชุมหารือร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและหุ้นส่วนทางการศึกษา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกำหนดทิศทางการศึกษาไทยกับการเตรียมกำลังคนสู่ปี 2025 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในโลกที่ผันผวน โดยหลังจากนี้ ศธ. จะได้มีหารือสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในการพัฒนากำลังคนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาโมเดลการจัดการศึกษาของประเทศในทุกระดับต่อไป" นางสาวตรีนุช กล่าว  

 


ท้าทายอนาคตคนสมรรถนะสูง
     ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษว่า ปี 2565 ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากเนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรฐานสาระความรู้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และความท้าทายสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การขับเคลื่อนงานผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเตรียมเข้าสู่ปี 2025 ภาคการศึกษาและและภาคแรงงานจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้รองรับผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะเหล่านั้นอย่างแท้จริงและเกิดการยอมรับในภาคประกอบการที่ต้องใช้กำลังคนในอาชีพต่าง ๆ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบการ การจูงใจผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียน เร่งพัฒนาครูผู้สอน ทั้งที่เป็นครูในสถานศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ รวมถึงการกำหนดมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น   

     รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า ศธ. จึงมีภารกิจสำคัญในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาที่บูรณาการศาสนา วัฒนธรรม และการกีฬา ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นหน้าที่หลักของ สกศ. ในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กไทยในโลกแห่งดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์จำเป็นต้องเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) เพื่อสามารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) นำมาปรับใช้ในชีวิตและทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเรียนการสอนสะเต็มศึกษา (STEAM) ที่เพิ่มสาระศิลปวัฒนธรรมการใช้ชีวิต (Art) ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับคะแนน PISA ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง ดำเนินงานอบรมครูเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของครูในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ยกระดับคุณภาพทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย  
 


     

     "ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ 4 ด้านทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์ ที่ต้องการระดมความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยเหลืออุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์อก่ผู้เรียนที่ขาดโอกาส การได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนในด้านสาระหรือคอนเทนต์ต้องปรับเปลี่ยนจากรูปแบบตำรากระดาษเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น โครงการ Project 14 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือ สสวท. และที่สำคัญที่สุดต้องพัฒนาตัวครูหรือผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถใช้เทคโนโลยีหรือสร้างคอนเทนต์ และมีการวางแผนจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปแก้ปัญหาจากการคิดวิเคราะห์ได้" ดร.คุณหญิงกัลยา อธิบายเพิ่มเติมว่า เวทีสัมมนาระดมความคิดครั้งใหญ่ของ สกศ. ที่มีหุ้นส่วนทางการศึกษา และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ จะสามารถร่วมกันกำหนดแนวทางการจัดเตรียมกำลังคนที่สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานอนาคต และเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ต่อไป 


พาร์ตเนอร์ชิพเติบโตไปด้วยกัน
     ทางด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ผลลัพธ์สำคัญที่ สกศ. ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดเป้าหมาย "เด็กไทย 2025 เพื่อเศรษฐกิจไทย" โดย สกศ. ปรับงานวิจัยผสมผสานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดรับกับงานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) รองรับการประกอบอาชีพในอนาคต การหารือพบปะเสาหลักเศรษฐกิจไทยเพื่อหารือถึงการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องความต้องการที่แท้จริง มุ่งเน้นแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติดังนั้น เมื่อสร้างบ้านต้องกำหนดพิมพ์เขียวการพัฒนาทุนมนุษย์โดยสร้างแผนที่ชีวิต (Skill Mapping) ประการสำคัญ สกศ. เร่งขับเคลื่อนคือการสร้างศักยภาพการแข่งขันประเทศไทยในเวทีโลก ภายใต้ทิศทางที่มีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนตามนโยบายรัฐบาล ประเทศมีความหวังมีทางเดินชัดเจน สกศ. เป็นเข็มทิศของประเทศไทยด้านการศึกษา สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจผู้ประกอบการเอกชนและภาคอุตสาหกรรม โดยขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาสอดรับการเปิดประเทศและเชื่อมโยงเสาหลักเศรษฐของกิจประเทศ พัฒนาทักษะเดิมเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill-Reskill) ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปลดอัตราการว่างงาน ส่งเสริมผลิตผู้ประกอบการใหม่ (Startup) สร้างอาชีพใหม่ที่เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น  

 

     ดร.อรรถพล สังขวาสี วิเคราะห์แนวโน้มสำคัญว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไปหลายอาชีพเป็นที่ต้องการมากขึ้น หลายอาชีพเป็นที่ต้องการลดลง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบหรือผู้ที่กำลังทำงานอยู่และแรงงานในอนาคต หรือผู้ที่กำลังอยู่ช่วงศึกษา อาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบของโรคโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปคนหันไปทำงานที่บ้าน (WFH) มากกว่าเข้าสำนักงาน ส่งผลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีธุรกิจปิดตัวลงจำนวนมาก หลายธุรกิจลดต้นทุน ตัดค่าใช้จ่ายและลดคนงานหรือจ้างงานลดลง ขณะที่กระแส Technology Disruption ทำให้หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์เพราะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่าการจ้างงานแบบเดิม ท้ายที่สุดโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมทั้งประเทศไทยทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสัดส่วนกำลังคนวัยแรงงานลดลงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศ ตลาดงานคนยุคใหม่จึงเปิดกว้างมากขึ้นไม่จำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น 

     "สกศ. มองแนวโน้มการศึกษาและภาคกำลังคนอนาคตควรต้องเติบโตไปด้วยกันหรือ Common Growth มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศด้วยการพัฒนากำลังคน ยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้นทุกช่วงวัยต้องมีกรอบทางเดินการศึกษาและช่วงชีวิตที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการวางแผนการเรียนของบุตรหลาน การลงทุนการศึกษาที่มีความคุ้มค่า ตอบโจทย์รัฐบาลและระบบการศึกษา การันตีใน 10 ปี เด็กไทยมีเส้นทางชีวิตชัดเจน โดยทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบการศึกษาเหมาะสมแต่ละภูมิภาคภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศระยะยาว" เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด