วันนี้ (๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการ "พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Learning Platform)" โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ครู อาจารย์ และสื่อมวลชน จำนวนกว่า ๑๕๐ คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้กลไกดิจิทัลเป็นเครื่องมือเสริมสมรรถนะการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ และฐานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งการเรียนรู้ในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างจากการเรียนรู้ในช่วง ๒๐ - ๓๐ ปีที่ผ่านมา มองว่ามี ๒ สิ่งที่แตกต่างกัน ๑) เด็กปัจจุบันมีโอกาสเลือกการเรียนรู้มากขึ้น และ ๒) การแบ่งปันการเรียนรู้ (Share) สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า ๒๕ ปีลงมามีโอกาสได้เรียนรู้ที่มากขึ้นและหลากหลาย
"สกศ. ในฐานะหน่วยรับผิดชอบดูแลการจัดทำนโยบายการศึกษาชาติ พบข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ประชากรไทยมีอัตราการเกิดน้อยลงและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมาอัตราการเกิดลดลงร้อยละ ๕ ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ดี โอกาสในการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมาส่งเสริมการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ระหว่างกัน จึงถือเป็นโอกาสดีที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเวทีนี้เพื่อแบ่งปันและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน" ดร.สุภัทร กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้การสนับสนุนงบลงทุนเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจัดทำหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา (ไอที) เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกระดับสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) สำหรับแพลตฟอร์มที่ใช้อยู่ปัจจุบันเรียกว่า THAI MOOC ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้อย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิดเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (Massive) เปิดกว้างและรับการลงทะเบียน (Open) มีระบบปฏิบัติการแบบออนไลน์ (Online) และมีการจัดทำหลักสูตรรองรับการเรียนเป็นกลุ่ม (Course) ซึ่งเดิมขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ด้านการเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มผู้เรียนเพื่อให้เกิดการถกเถียงและตกผลึกทางความคิดที่เกิดการเรียนรู้สูงสุด อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเรียนรู้บนโลกออนไลน์แล้ว การเรียนรู้แบบพบปะกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนยังมีความสำคัญเช่นกันในแง่กระสร้างจิตสำนึกต่อผู้เรียนและกระตุ้นการเรียนรู้ โดยเพิ่มความสัมพันธ์รูปแบบ Blended Learning หรือ Hybrid Learning คือ มีการผสมผสานการเรียนรู้ทั้งแบบดิจิทัลและการเรียนรู้ผ่านชั้นเรียนมากขึ้น หรือมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลส่งเสริมการเรียนรู้มากกว่าร้อยละ ๓๐ ของชั่วโมงการเรียน ซึ่งกำลังมีการปรับตัวในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก
ดร.วรสรวง ดวงจินดา ผู้อำนวยการสำนักการจัดการศึกษาออนไลน์ กล่าวว่า กลุ่มผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบดิจิทัล ได้จากทุกสถานที่บนโลก เปรียบเสมือนแหล่งการเรียนรู้ที่มีการออกแบบหลักสูตรที่เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Any time Any Where) ประการสำคัญจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน (collaborate) และการแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ ระหว่างกัน (Share) สร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม บริบทการเรียนรู้บนแฟลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ผู้สอนหรือครูจำเป็นต้องเตรียมผู้เรียนหรือเด็กให้มีความพร้อมในการใช้ระบบไอที รวมถึงรายวิชาที่ผู้สอนเองก็ต้องพัฒนาตนเอง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ เช่น การใช้คลิปสั้นเพื่อกระตุ้นและเร้าความสนใจของผูู้เรียนมากขึ้น นอกจากนี้ แนวทางสำคัญคือเมื่อสามารถเรียนรู้ตลอดเวลาแล้ว ควรมีการจัดระบบการศึกษาในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) รองรับและเก็บสะสมผลการเรียนรูปแบบ MOOC ดังกล่าว เพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมสามารถออกใบประกาศนียบัตรรองรับหลักสูตรได้
ดร.สุธิดา จักษ์เมธา Director of International Collaboration & Academic Coordinator สถาบัน Macquarie Education Group Australia (MEGA) กล่าวว่า ประสบการณ์จากการเรียนการสอนบนแฟลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้ THAI MOOC ในประเทศไทย เห็นว่ารัฐบาลออสเตรเลียลงทุนส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าวด้วยงบประมาณสูง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งเสริมการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้งแบบ Online และ Offline โดยระบบการเรียนรู้ของออสเตรเลียยังสามารถเชื่อมโยงคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ อย่างไรก็ดี คุณภาพการเรียนรู้คือสิ่งสำคัญ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมของเด็กคือผู้เรียนให้สามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้เต็มที่ทั้งเรื่องทักษะดิจิทัล และหน้าที่ของเด็กสำหรับการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและมีความถนัด
ด้าน นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวสรุปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้เรียนรู้หรือเด็กนั้นเอง แม้ว่าจะมีระบบไอที หรือแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้ แต่การเรียนการสอนโดยครูก็ยังมีความสำคัญทั้งเรื่องการปลูกฝังความคิด และสร้างจิตสำนักการใช้ชีวิตของเด็กในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำความเข้าใจร่วมกันสำหรับการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล สำหรับการเตรียมความพร้อมของเด็กคือผู้เรียนรู้สื่อดิจิทัลที่ต้องรู้เท่าทันและรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะการเสพสื่อออนไลน์ที่มีประโยชน์มากที่สุด
"พ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่ดูแล และติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กอย่างใกล้ชิด โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นกลไกหรือเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่มีประสิทธิภาพและเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป" ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว