สกศ. X สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หารือแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.ดร.นพปฎล สุนทรนนท์ และนายราชัน วรมุนี นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร น.สพ.ดร.กิตติ ทรัพย์ชูกุล กรรมการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และนางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร 2 สกศ.
นางอำภา กล่าวว่า สกศ. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมกำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะทางเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทของตลาดแรงงานและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเพื่อให้การดำเนินงานมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงเชิญสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยร่วมประชุมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล และเป็นทิศทางในการยกระดับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่อไป
จากการหารือมีความเห็นร่วมกันว่า เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นเรื่องพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ การผลิตกำลังคนที่มีทักษะและความสามารถทางดิจิทัลนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยและต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดพหุปัญญาและมีทักษะที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นด้านตรรกะและเหตุผล (Logic) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) และด้านภาษา เพื่อผลิตกำลังคนสู่การเป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการที่สามารถนำองค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายมาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน รวมถึงสามารถปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลให้เกิดเป็นทุนมนุษย์ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ การจัดการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังคนทางดิจิทัลนั้น ยังมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งผู้เรียนที่มีปัญหาความยากจนบางส่วนจำเป็นต้องออกมาประกอบอาชีพ และขาดทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการเรียนการสอน อาทิ อินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ มีราคาแพง และขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อการเรียนรู้ ประกอบกับหลักสูตรการศึกษายังไม่สามารถปรับได้รวดเร็วเท่ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ การผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานและงบประมาณระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนสร้างการส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยได้เสนอแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัลของประเทศ ได้แก่
1) การจัดตั้งศูนย์พัฒนาดิจิทัล ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนดิจิทัล
2) การสร้าง Platform Online และให้โอกาสหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้ามาเป็นผู้จัดทำเนื้อหาบรรจุลงในแพลตฟอร์ม โดยใช้รูปแบบเนื้อหาและวิธีการที่ทำให้การเรียนรู้สนุกและไม่น่าเบื่อ
3) การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ซึ่งสภาการศึกษาในฐานะ “ตาน้ำ” ที่มีส่วนสำคัญในการวางแนวทางการศึกษาของคนทุกช่วงวัย
สกศ. จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะทางดิจิทัลที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ของโลกต่อไป

