สกศ. X หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความเห็นด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล

image

วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล โดยมีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สถานประกอบการ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 17 หน่วยงาน นำเสนอและให้ข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมาบูรณาการความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศร่วมกัน และผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนผู้บริหารสำนักงานฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กว่า 80 คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.

รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต กล่าวเปิดการประชุมว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทย และเพื่อยกระดับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สกศ.จัดทำแผนและกำหนดทิศทางเรื่องดังกล่าว ซึ่งในคราวประชุม OECD ที่ผ่านมา ในวงการศึกษาได้หารือเรื่องกำลังคนด้านดิจิทัล นโยบายการศึกษาจะเป็นเครื่องมือของรัฐที่สามารถเตรียมกำลังคน กำหนดไว้ 7 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็น 1 ทุกประเทศให้ความสำคัญที่สุดต้องพัฒนาครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการการจัดการเรียนการสอน ผู้ขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนการจัดการกำลังคน มีแผนผังความคิดให้กับหน่วยงานและบุคลากรดังกล่าว
ประเด็น 2 การศึกษาในยุคต่อไป คือเด็กจบมาแล้วต้องมีงานทำทันที ทำอย่างไรให้ที่จะให้การศึกษาสั้น เร็ว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรียนจบมีงานทำ และปัจจุบันมีการ Upskill Reskill 
ประเด็น 3 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการระบบการศึกษา
ประเด็น 4 ระบบธรรมาภิบาลในระบบการศึกษา การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระบบการศึกษา เช่น การขอวิทยฐานะ การประเมินผลงานด้วยการส่งคลิปการสอน ผลงานวิจัย รูปแบบไฟล์ และกรรมการจะประเมินได้ทุกที่ตลอดเวลา
ประเด็น 5 การออกแบบระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเรียนรู้โลกเสมือนจริง
ประเด็น 6 การศึกษาเด็กปฐมวัย และเด็กประถมศึกษา จะต้องเตรียมความพร้อมการศึกษาให้เร็วที่สุด โดยใช้ดิจิทัลอบรมกับครู ให้องค์ความรู้กับครูได้ทันที ในขณะเดียวกันต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กด้วย 
ประเด็น 7 การเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ผู้เรียนได้การเรียนรู้ ตัวอย่าง การจัดนิทรรศการด้วยการใช้เทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีในพิพิธภัณฑ์

นอกเหนือจากประเด็นการพัฒนากำลังคนข้างต้น OECD ยังให้ความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ความเป็นอยู่ที่ดีและสมรรถนะครู และการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยปัจจุบันดำเนินการภายใต้โครงการ OECD Future of Education and Skill 2040 เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจที่นำไปใช้ได้จริง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพและยกระดับบทบาทครู

ในที่ประชุมระดมความคิดเห็น การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้มีทักษะอาชีพที่สูงนั้น ผู้ผลิตและผู้ใช้จำเป็นต้องทราบจำนวนข้อมูลและความต้องการ หน่วยงานจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันในการออกแบบหลักสูตรกลางที่ชัดเจน มีการจัดฝึกอบรมและพร้อมปฏิบัติจริง ทำอย่างไรเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดอบรมหลักสูตรโดยรวมศูนย์เพื่อประหยัดทรัพยากรและงบประมาณ มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการศึกษาอย่างเหมาะสมตามบริบทแต่ละพื้นที่ จัดหลักสูตรแบบ SML ที่เหมาะสมกับสภาพของธุรกิจ ผู้เรียน ผู้สอน หลักสูตร ชัดเจนตรงกับความต้องการเพื่อเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ ส่วนความก้าวหน้าการทำงานต้องมีสมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีในการทำงานโดยกำหนดเกณฑ์ในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง มีการระดมทรัพยากรร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ด้านการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรมีกติกาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมในการใช้ดิจิทัลในองค์กรการทำงาน และอนาคตประเทศไทยควรจะมีกฎหมาย AI ประเทศไทย

สำหรับข้อมูลที่ได้จากการประชุมในวันนี้ สกศ. จะนำข้อมูลมาบูรณาการความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศร่วมกัน และนำไปจัดทำข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล และนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (พ.ศ. 2569 - 2575) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล ต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด