สกศ. X ศธภ.8 เดินหน้าธนาคารหน่วยกิตระดับพื้นที่ พัฒนาหลักสูตรเชื่อมโยงตามกรอบ NQF ณ จังหวัดชลบุรี

image

วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อสะสมและเทียบโอนในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (Credit bank) พื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 โดยมี ดร.วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 8 เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ คณะผู้บริหารหน่วยงาน สถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลรูม ชั้น 12 โรงแรมรัตนชล จังหวัดชลบุรี

ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจและพัฒนาหลักสูตรตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อสะสมและเทียบโอนในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (Credit Bank) ในพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความคิดเห็น จะเป็นกลไกการขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตสู่ความสำเร็จ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ ดร.นิติ และ ดร.กาญจนา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่า “เรียนดี มีความสุข” และ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime)

ดร.นิติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ สกศ.มุ่งส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับทุกคน การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 มุ่งเน้นการเชื่อมโยงหลักสูตรทุกระดับเข้ากับ NQF และระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ได้ มีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพและภาษาต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับ NQF มีการนำร่องและทดลองใช้ระบบในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ดำเนินงานในระดับจังหวัดและสถานศึกษา รูปแบบการเทียบโอนและการสะสมหน่วยกิตเพื่อลดระยะเวลาในการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ต่อเนื่อง มีการขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ความเป็นรูปธรรม

ในปีงบประมาณ 2568 จะสำเร็จได้ต้องอาศัยการเปิดใจ เข้าใจ เข้าถึง และการพัฒนาจากทุกภาคส่วน ดำเนินงาน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การเทียบโอนผลการเรียนระหว่างหลักสูตรในระดับการศึกษาเดียวกัน (ขั้นพื้นฐานกับการอาชีวศึกษา) 2.การเก็บสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิตแบบไม่มีชั้นเรียน 100% 3.การเก็บสะสมหน่วยกิตการศึกษาในระบบ โดยพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า 4.การเก็บสะสมหน่วยกิตคู่ขนาน (Pre Degree) 5.การแปลงประสบการณ์อาชีพเป็นสมรรถนะและหน่วยกิตตามระดับคุณวุฒิแห่งชาติ โดยการเทียบ ได้แก่ การรวบรวมและจำแนกหลักสูตร/รายวิชา การวิเคราะห์เปรียบเทียบเนื้อหา/มาตรฐาน/หน่วยกิตและการเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ ผลการเปรียบเทียบอาจเทียบได้แบบสมบูรณ์แบบมีเงื่อนไข จากนั้นสรุปผล และศธจ.จัดทำประกาศ บันทึกในระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มและแจ้งสถานศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป 

ดร.กาญจนา กล่าวชี้แจงการเทียบระดับคุณวุฒิและต้นแบบกระบวนการเชื่อมโยงหลักสูตรกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จากนั้นมีการแบ่งกลุ่ม Workshop ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เทียบโอนผลการเรียนระหว่างหลักสูตรในระดับการศึกษาเดียวกัน กลุ่มที่ 2 สะสมเทียบโอนแบบไม่มีชั้นเรียน 100 % กลุ่มที่ 3 พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงกับหลักสูตรในระดับที่สูงกว่า กลุ่มที่ 4 สะสมเทียบโอนหน่วยกิตคู่ขนาน (Pre Degree) 

โดย ดร.นิติ และ ดร.กาญจนา ให้คำปรึกษาแนะแนวประจำกลุ่ม ให้ผู้เข้าประชุมนำเสนอผลการพัฒนาหลักสูตร การดำเนินการเทียบโอนคุณวุฒิดังกล่าว สามารถรองรับปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา (Dropout) แต่มีประสบการณ์อาชีพ สามารถเทียบโอนคุณวุฒิและสะสมหน่วยกิตได้แม้อยู่นอกระบบการศึกษา ทั้งนี้ ศธจ.มีบทบาทสำคัญในการจัดทำ Big Data หลักสูตรในจังหวัด เพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อน Credit bank ในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด