สกศ. จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๐

image

 

                  เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ๑๒ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 

 



                  ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังดำเนินการจัดทำสำเนาข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปของกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาประเทศไทย (ลำปาง)  ให้กรรมการพิจารณาอย่างเป็นระบบ และเปิดโอกาสให้สอนข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง โดยมีหลักปฏิบัติ คือ หากเป็นการเข้าพบเพื่อให้ความคิดเห็นในลักษณะของหมู่คณะสามารถให้เข้าพบได้ แต่หากเป็นรายบุคคล จะต้องพิจารณาเป็นรายไป


 



                  การประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่  ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กเล็ก ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับครูและอาจารย์ ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และประเด็นความก้าวหน้าด้านรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม

 



                  คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการเด็กเล็ก และมีประเด็นในการรับฟังความคิดเห็น ๗ ประเด็น ได้แก่ ๑) การแบ่งช่วงอายุเด็กปฐมวัย ๔ ช่วงอายุ ๒) ขอความเห็นของในเป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ๘ ข้อ ๓) หลักการดูแลพัฒนาและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ปฏิสนธิ ถึง ๘ ปี ๔) การแบ่งแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ หน่วยให้บริการ (service provider) กับหน่วยให้งบประมาณและกำกับดูแล (regulator) ๕) การออกแบบกลไกการบริหารจัดการผ่าน กพป. ๖) การจัดการดูแลและให้การศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ๗) การเสนอให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยการจัดสถานที่อำนวยความสะดวกในการให้นมบุตรในสถานประกอบการ

 



                  คณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ นำเสนอแนวทางการพัฒนาทักษะจำเป็นสำหรับครู ระบบการผลิตครู บทบาทครูยุคใหม่ ระบบการผลิตครูในอนาคต โดยเน้นการพัฒนาคนสี่กลุ่ม ได้แก่ ครู ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร และข้อเสนอในการวิเคราะห์ตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งจะยึดโยงกับการผลิตและพัฒนาครูที่สอดคล้องกับความต้องการนั้นๆ โดยมีประเด็นเพื่อระดมความคิดเห็นสองประเด็นใหญ่ ได้แก่ ๑) คุณลักษณะ (characteristics) ของครูในอีก สองทศวรรษ ควรเป็นอย่างไร ๒) การปฏิรูปครูทั้ง ๔ กลุ่มให้บรรลุผลสำเร็จ อะไรคือปัจจัยความสำเร็จ (key success factors) และอะไรคือปัจจัยความล้มเหลว (key failure factors) นอกจากนี้มีประเด็นการระดมความคิดเห็นในเรื่อง แนวทางการผลิตครูที่เป็นต้นแบบด้านคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม การผลิตครูทางวิทยาศาสตร์ และมีการปรับการพัฒนาเนื้อหาสาระ (content) ในการผลิตครู เป็นการพัฒนาครูให้มีทักษะการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ (how to learn) และจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญในการพัฒนาผู้บริหาร ซึ่งมีอิทธิพลต่อการพัฒนาครูด้วย

 



                  คณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน นำเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอน ในปัจจุบันที่ต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี โดยการปฏิรูปการเรียนการสอน แบ่งเป็น ๒ ระยะ โดยให้ความสำคัญในระยะสั้นก่อน (ภายใน ๖ เดือน) คือ ในแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้ใช้ชุดพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ในการแก้ปัญหาความเสี่ยงทางพฤติกรรมของเด็กต่างๆ ใช้ชุดพัฒนาตนเอง นอกจากนั้น ในการแก้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีของครู จะต้องจัดเทคโนโลยีช่วยสอน เพื่อให้ครูสามารถนำไปใช้พัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะที่พึงประสงค์ของนักเรียน ในปัจจุบันมีตัวอย่างการพัฒนาชุดการสอน อาทิ ชุดการสอนภาษาอังกฤษระดับ ป.๔ ถึง ม.๓ ชุดการสอนคณิตศาสตร์ระดับ ป.๑ ถึง ม.๓ ชุดการสอน STEM ระดับ ป.๔ ถึง ม.๓ และมีการพัฒนากิจกรรมตามช่วงชั้นและเกม ผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยความร่วมมือกับบริษัท TRUE

 



                  นอกจากนั้นควรมีการปรับกรอบหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น ให้เด็กได้เรียนตามความถนัด ปรับมาตรฐานการศึกษา อาคาร โภชนาการ การเรียนการสอน และการบริหารบุคคล ตลอดจนเก็บข้อมูล และศึกษาวิจัยในประเด็นการพัฒนาครู หลักสูตร สื่อการเรียนการสอน และการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ โดยมีประเด็นการระดมความคิดเห็น ๙ ประเด็น ประกอบด้วย ๑) การไม่ออกเขียนไม่ได้ ๒) หลักสูตร ๓) การจัดการเรียนการสอนของครู ๔) การพัฒนาสื่อการสอน ๕) การวัดผล/ ประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน ๖) การพัฒนาครู ๗) การสอบวัดมาตรฐานระดับชาติ ๘) การประคุณภาพการศึกษา และ ๙) การจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้

 
 
 
 



                  คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม นำเสนอว่าความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา โดยทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศคราวนี้ด้านการศึกษาต้องมีการหยิบยกขึ้นมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ครู นักเรียน นิสิต นักศึกษาฯลฯ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมจะออกไปรับฟังความคิดเห็นส่วนภูมิภาคจังหวัดร้อยเอ็ด เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และภาคกลาง โดยจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดนำมาสังเคราะห์เป็นประเด็น นำไปยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ จะมีพิธีเปิดศูนย์ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งตั้งที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา บริเวณอาคาร ๑ ชั้น ๑ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา พร้อมเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น เช่น เว็บไซต์ www.thaiedreform.org Facebook “ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” และ E-mail: [email protected]

 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด