วงถก สกศ. ชงเด็กอัจฉริยะเปลี่ยนประเทศ ‘กมล’ แนะ กศจ. ช่วยเจียระไนต่อยอด 4.0

image


         วันนี้ (๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐) ที่ประชุมเสวนาสภาการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ ๑๙ จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ  โดย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ขับเคลื่อนและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ถือเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยในยุค 4.0 โดยมีแผนส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพสูงและมีความสามารถพิเศษให้มีทักษะด้านที่ตนเอง มีความถนัดเพิ่มมากขึ้น มีแรงบันดาลใจและเจตคติที่ดีในการพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะนำความสามารถพิเศษของตนเองไปทำประโยชน์ต่อสังคม และเป็นคลังสมองของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ สกศ. ได้นำร่องโครงการ ค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา และด้านดนตรีและศิลปะ Talented Science Sport Music and Art Youth Camp หรือ ทีซ่า ยูธ แคมป์ (TSA Youth Camp) ครั้งที่ ๑ บูรณาการเด็กกิฟท์เต็ดอายุ ๑๖ – ๑๘ ปี ด้านวิทยาศาสตร์ กีฬา ดนตรีและศิลปะ รวมทั้งสิ้น ๖๐ คนมาทำกิจกรรมร่วมกันในค่ายทีซ่า ยูธ แคมป์ที่ มศว กรุงเทพฯ ได้ผลตอบรับอย่างดีจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสื่อมวลชน 

 
 
 


         ดร.กมล รอดคล้าย กล่าวว่า สกศ. จึงเห็นสมควรเสนอ ๓ แนวทางหลักเพื่อพัฒนาต่อยอดเด็กกลุ่มดังกล่าว ๑.เร่งวางระบบบริหารจัดการ ผู้มีความสามารถพิเศษทั้งระบบอย่างชัดเจน ๒.ภาครัฐควรมีโครงการ (โปรเจ็กต์)เพื่อดึงศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือใช้ความสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ เช่น ปัญหาผักตบชวา ปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ และ ๓.การวางระบบการศึกษาพื้นฐานโดยหน่วยปฏิบัติงาน ควรส่งเสริมบทบาทคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) มาช่วยขับเคลื่อนและเจียระไนผู้มีความสามารถพิเศษแต่ละพื้นที่ให้ใช้ศักยภาพได้อย่างตรงจุดและเต็มความสามารถสอดรับยุทธศาสตร์ที่ ๓ ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๑๕๗๙ และส่งเสริมเครือข่ายการศึกษาประชารัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในพื้นที่ ซึ่งจะได้นำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนดังกล่าวรายงาน นายแพทย์ธีระเกียรติเจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบายดำเนินการตามลำดับ

 


         ด้าน ดร. ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษต้องการกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง ดังนั้น การจัดการศึกษาที่เหมาะสมจึงต้องเปลี่ยนให้เด็กรู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่ามีความชอบและมีความถนัดที่จะเรียนรู้หรือทำสิ่งใด เมื่อเด็กฉายแววผู้มีความสามารถพิเศษชัดเจน ครูมีหน้าที่ต้องรู้จักเด็กทุกคนให้มากที่สุด และส่งเสริมให้ได้เรียนรู้สิ่งที่เด็กถนัดอย่างเต็มที่ ไม่ปิดกั้นแค่สายวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เท่านั้นแต่รวมถึงความถนัดทุกด้านทุกวิชา เพราะเด็กกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงของประเทศ โดยเฉลี่ยอัตราการเกิดประเทศไทยปีละ ๗๐๐,๐๐๐ ราย หมายความว่าจะมีเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ประมาณร้อยละ ๓ หรือ ๒๑,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเฟ้นหาและคัดสรรเด็กเพื่อจัดการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพื่อสร้างฐานและต่อยอดให้คนเก่งกลุ่มนี้ขับเคลื่อนประเทศเปลี่ยนจากสังคมผู้บริโภคให้เป็นสังคมผู้ผลิตคือสร้างนวัตกรรมใหม่ นอกจากส่งเสริมวิชาความรู้ความสามารถแล้ว ต้องไม่ลืมสั่งสอนและปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติเป็นการรวมพลังผู้มีความสามารถพิเศษช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทย 4.0

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด