สกศ. เดินหน้า OEC Forum พัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐

image

 

เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ ๑๔ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐” โดยมี ดร. วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวปิดการประชุม มีการนำเสนอโดย ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร และนายทัสพร จันทรี รองประธานอาวุโส สายงานการบริหารบุคลากรและประสิทธิภาพองค์กร บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 
   
   
   
   
 
 
 

ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งผู้ที่มีลักษณะที่สามารถเป็นคนไทย ๔.๐ หรือพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ได้ ต้องมีลักษณะอย่างไร และการศึกษาจะสร้างคนที่มีลักษณะเช่นนั้นได้อย่างไร   สกศ. จึงใช้เวทีสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum เป็นเวทีหนึ่งในการหาคำตอบเพื่อช่วยในการพัฒนาการศึกษา เมื่อกล่าวถึงไทยแลนด์ ๔.๐ จะไม่ได้มองเพียงแค่ดิจิตอลเทคโนโลยี หรือเรื่องที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ต้องมองให้กว้าง ให้ครอบถ้วนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฐานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม New S Curve  Digital E Commerce  Internet of Things  โรงแรม การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี จริยธรรม หลักศาสนา เป็นต้น

 
 
 
 
 
   
   

สกศ. มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ จึงต้องวิเคราะห์ นำเสนอแผนการพัฒนากำลังคนไปสู่การเป็นไทยแลนด์ ๔.๐ โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรก คือ ระบบ Quick – Win  เป็นการพัฒนาคน ๕ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ ๒) กลุ่มผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษา ๓) กลุ่มอุดมศึกษา ๔) กลุ่มผู้สูงอายุ และ ๕) กลุ่มวัยแรงงาน ที่จะตอบสนองการผลิตโดยเร็ว  ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงระยะต่อไปในอีก ๑๕ ปี เป็นการพัฒนาโดยรวม การจัดการศึกษาทั้งระบบให้คนพร้อมกับการรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง  ผลที่ได้ของการประชุมในครั้งนี้ สกศ. จะนำผลที่ได้รับนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

สำหรับสภาการศึกษาเสวนา ครั้งหน้า จะจัดเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ในวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้นำเสนอ

ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา   กล่าวว่า  OEC  Forum จัดขึ้น ๑๓ ครั้ง แล้ว โดยในแต่ละครั้งจะคัดเลือกประเด็นที่อยู่ในความสนใจ  ข้อถกเถียงทางการศึกษา โดยจะเชิญผู้รู้มาเป็นวิทยากร และเชิญผู้สนใจทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นประเด็นเสนอในเชิงนโยบาย นำสู่การปรับเปลี่ยน ปฏิรูปการศึกษาต่อไป ประเด็นที่ OEC  Forum  เคยจัด  ได้แก่  การสอบบรรจุครู    STEM Education   เทคนิคการสอนของครูคนไทยที่ไม่ได้จบต่างประเทศ สอนในโรงเรียนชนบทแต่สามารถสอนให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว    Start up  ซึ่งเป็นที่สนใจของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่   การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในยุคดิจิตอล ฯลฯ   สำหรับ OEC  Forum ครั้งที่ ๑๔ นี้ จะนำเสนอเรื่องการพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งเป็นประเด็นที่สภาการศึกษาจะนำไปบรรจุในยุทธศาสตร์การศึกษาที่จะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อสร้างประเทศให้ก้าวหน้าในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ต่อไป

ดร. ณัฐวุฒิ  พงศ์สิริ  ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร กล่าวโดยสรุปว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายอาชีพต้องปรับตัวไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ปัจจุบันไม่ใช่โลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  แต่ปลาเร็วกินปลาช้า คือ ใครเร็วกว่าจะชนะคนช้ากว่า เป็นโลกที่เรียกว่า VUCA คือ ผันผวน (volatility)  ไม่แน่นอน (Uncertainly) ซับซ้อน (Complexity) ไม่ชัดเจน (Ambiguity) เพราะปัจจุบันข้อมูลมากเข้าถึงง่าย  แต่ถ้าไม่สามารถคัดกรองได้ก็จะได้ข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ คนที่สามารถแปลงข้อมูลให้เป็นประโยชน์ได้จะชนะทุกการแข่งขัน ดังนั้นโลกในยุคใหม่ต้องเน้นทักษะในการวิเคราะห์

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้  จะมีองค์กรอยู่ ๔ ประเภท คือ  ๑ . องค์กรที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ๒. องค์กรที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงและรอจนกว่าจะกระทบตัวเอง ๓.องค์กรที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รู้ว่าทำอย่างไร แต่ไม่เคยลงมือทำ จะรอดูตัวอย่างจากองค์กรอื่นก่อน และ ๔. องค์กรที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา องค์กรใน ๓ แบบ แรกจะล้มสลายจะในที่สุดขึ้นอยู่ว่าจะเร็วหรือช้า  แต่องค์กรที่รู้จักปรับตัว เช่นในข้อ ๔ จะอยู่รอด    ปัจจุบันแนวโน้มของบริษัทใหญ่เปลี่ยนไป แต่ก่อนบริษัทน้ำมันเป็นบริษัทใหญ่ที่มีรายได้ชั้นนำแต่ปัจจุบัน  บริษัทที่ประกอบด้านเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขึ้นมาอยู่ในรายชื่อบริษัทชั้นนำมากขึ้น

ในยุคอุตสาหกรรม ๔.๐ จะมีเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นแกนหลัก ได้แก่ ๑. Cyber Psysical  System Cloud computing   Big  Data   System securilty   3D Printing   Augmented Reatity และ Humanoid Robots   ในอนาคตหุ่นยนต์จะทำงานแทนคนได้ในหลายๆ อาชีพ  ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีให้เห็นแล้ว  อาชีพที่จะเริ่มใช้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ เช่น  แท็กซี่  ปัจจุบันเริ่มมีรถไร้คนขับใช้แล้วในบางประเภท และปัจจุบันบางบริษัทกำลังพัฒนาให้รถยนต์สามารถพูดคุยกับคนขับได้  พนักงานธนาคาร  ที่ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์  หุ่นยนต์ที่ช่วยงานในโรงงาน ใช้ลำเลียงสิ่งของต่างๆ  หุ่นยนต์ช่วยเลี้ยงเด็ก  หุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงพยาบาลช่วยเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ยา อาหาร ช่วยลดเวลาการทำงานของพยาบาลให้มีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น  นอกจากนี้อาชีพนักข่าวยังเป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวเพราะปัจจบันสามารถทำ facebook Live ได้  และหลายคนสามารถรายงานข่าวได้เองผ่านเทคโนโลยี นักข่าวจึงต้องปรับตัวเป็นผู้วิเคราะห์ข่าวแทน ฯลฯ  Ray Kurzweil  ผู้มีชื่อเสียงในการทำนายอนาคต ทำนายไว้ว่า ในปี 2045   ทำนายว่า คนและเครื่องจักรเป็นหนึ่งเดียวกัน  จะมีการฝัง smart ชิฟให้คนเพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   คนจะไม่แก่   มีอายุเฉลี่ยมากขึ้น  ในอนาคตอาจเกิดมนุษย์สองประเภท ที่เป็นมนุษย์จริง ๆ หรือที่เป็นมนุษย์โคลนที่เป็นหุ่นยนต์  ด้วยเหตุนี้ คนยุคใหม่จึงต้องปรับตัวให้มีทักษะที่พร้อมก้าวโลกอนาคต โลกที่สามารถทำงานได้ทุกที่  ใช้ระบบ AI (Artificial intelligence) มากขึ้น  และมีความเชี่ยวชาญในการใช้ดิจิตอล  การทำงานต้องมีเครือข่าย  รู้จักสร้างสรรค์นวัตกรรม และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจได้

 ทักษะที่จำเป็นต้องสร้างให้คนรุ่นใหม่คือ ทักษะในการจัดลำดับและแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีความสำคัญต่างๆ ได้  ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในโลกเสมือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทักษะในการแปลงความหมาย วิเคราะห์ข้อมูลที่มีมากมายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์  ระบบการศึกษาจึงต้องพัฒนาคนให้มีทักษะเหล่านี้  และควรนำเทคโนโลยีมาใช้เหมือนบางประเทศได้นำระบบเสมือนภาพจริง (Virtual Reality) มาใช้พัฒนาคน อาทิ การเรียนภาษาอังกฤษ ปกติเรียนกับครูแล้วไม่กล้าพูด  อายเพื่อน สามารถใช้เรียนกับภาพเสมือนจริงพูดกับอาจารย์ฝรั่งตัวต่อตัว  ฝึกจนมีความพร้อมแล้วค่อยออกไปพูด หรือใช้กับการฝึกด้านการแพทย์  หรือทำเครื่องจักร ฝึกจนชำนาญแล้วค่อยไปปฏิบัติจริง เป็นต้น

นายทัสพร จันทรี รองประธานอาวุโส สายงานการบริหารบุคลากรและประสิทธิภาพองค์กร บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)  กล่าวโดยสรุปว่า ในการพัฒนาประเทศนั้น ปัญหาของไทย ได้แก่ ๑) คนที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีมากกว่าวัยทำงาน ซึ่งประเทศไทยจะคล้ายกับ สิงคโปร์ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ความต่างคือ ประเทศเหล่านี้ประชาชนมีฐานะแล้ว แต่ไทยยัง ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คือ เกิดปัญหาสมองไหล เพราะคนทำงานหนึ่งคนต้องจะแบกภาระระบบสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะมีผลต่อ GDP  ที่จะต่ำลง  ขนาดเศรษฐิจลดลง คนที่จะสร้างรายได้ลดลง ๒) จำนวนคนจบการศึกษาออกมาน้อย คนที่เข้าสู่ระบบการทำงานกับบริษัทจะน้อยลง ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานธุรกิจส่วนตัว ๓) เวลาจะรับคนเข้าทำงานในระบบ Professional ประเทศไทยจะใช้เวลามากกว่าประเทศอื่น  ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก Working Population ลดลง ๔) นักธุรกิจจะมองการระบบการ Training ของบริษัท และระบบการศึกษา  ในต่างประเทศนักธุรกิจจะเห็นว่าระบบการฝึกอบรมของบริษัทกับการศึกษาไม่ต่างกันนัก แต่นักธุรกิจในประเทศไทยคิดว่าระบบการศึกษายังไม่สามารถตอบความต้องการของ         ภาคธุรกิจได้ ประเทศไทยจึงมีปัญหาในเรื่องของการเตรียมคนเข้าสู่ระบบการทำงาน  ปัญหาเหล่านี้จึงยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ  ที่จะพัฒนาไปข้างหน้า  ในขณะที่ประเทศอื่นสามารถพัฒนาไปได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาเหล่านี้  นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ ความแตกต่างในเมืองกับชนบท  และ Logistics ที่ยังเข้าไม่ถึง ฯลฯ เมื่อพัฒนาเรื่องเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ต้องเน้นสร้างคนในอนาคต คือ ทักษะด้านดิจิตอลและความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ 

 (สุภาชัย ถ่ายภาพ)

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด