สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สภาการศึกษาสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ วันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นางสาวสมรัชนีกร  อ่องเอิบ  ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

ประเด็นสนทนา

 

ผู้ดำเนินรายการ  :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณสมรัชนีกร  อ่องเอิบ  ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาในประเด็น “สภาการศึกษาสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘” ก่อนอื่นขอเรียนถามถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย 
       
 ผอ. สมรัชนีกร   :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทยเพื่อทำหน้าที่นำภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ เข้าสู่การศึกษาของชาติ ผ่านการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้นมา สกศ. ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ  ๙ ด้าน ได้แก่  ๑) ด้านเกษตรกรรม ๒) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ๓) ด้านการแพทย์แผนไทย ๔) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๕) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ๖) ด้านศิลปกรรม ๗) ด้านภาษาและวรรณกรรม ๘) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และ ๙) ด้านโภชนาการ ซึ่งมีผลงานปรากฏเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาที่ได้สืบสานมาแต่บรรพบุรุษมาปรับประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยให้ก้าวไกลสู่สากลในมิติที่หลากหลาย ทั้งนี้ สกศ. ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยมาแล้ว ๗ รุ่น จำนวน ๔๓๗ คน
       
       ซึ่งในครั้งนี้ สกศ. ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการรับสมัครสรรหา และคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ขึ้น
       
 ผู้ดำเนินรายการ :      ขอให้ท่านให้คำจำกัดความของคำว่า “ภูมิปัญญาไทย” และ “ครูภูมิปัญญาไทย” ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้กำหนดไว้
       
ผอ. สมรัชนีกร   :     คำว่า “ภูมิปัญญาไทย” หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทย อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอด สืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ส่วนคำว่า “ครูภูมิปัญญาไทย” หมายถึง บุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านหนึ่งด้านใด เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชนและได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒
       
ผู้ดำเนินรายการ   :       ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทยจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ขั้นตอนและวิธีการสมัครเป็นอย่างไร คณะกรรมการจะใช้เกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย
       
ผอ. สมรัชนีกร   :     คุณสมบัติของผู้ทรงภูมิปัญญาที่เสนอชื่อเพื่อยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย มีคุณสมบัติดังนั้น ๑) ต้องมีสัญชาติไทย ๒) เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ๓) มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามขอบข่ายภูมิปัญญาไทย ๔) มีประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ และความเชี่ยวชาญในขอบข่ายภูมิปัญญาไทยด้านใดด้านหนึ่ง ไม่น้อยกว่า ๕ ปี ๕) มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม และ ๖) ไม่เคยได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มาก่อน
       
      สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อสรรหาและคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย ใช้หลักเกณฑ์การประเมิน ๒ ลักษณะ ดังนี้ ๑) หลักเกณฑ์การประเมินจากเอกสาร มีหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาข้อมูลที่มีในแบบเสนอผู้ทรงภูมิปัญญา เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย รวมทั้งพิจารณาข้อมูลจากสิ่งอื่น ๆ ตามที่จัดส่งแนบมาให้ เช่น ซีดี และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ๒) หลักเกณฑ์การประเมินภาคสนาม มีหลักเกณฑ์ในการใช้พิจารณาข้อมูลที่มีในพื้นที่ภาคสนามเพื่อประเมินเชิงประจักษ์ โดยพิจารณาจากด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และด้านคุณภาพของผลงาน 
       
      ทั้งนี้ผู้สนใจเสนอรายชื่อผู้ทรงภูมิปัญญา สามารถติตดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ สกศ. www.onec.go.th จะปิดรับสมัครวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นี้
       
ผู้ดำเนินรายการ :      การประกาศว่าผู้ใดเป็นครูภูมิปัญญาไทยมีการจำกัดจำนวนคนหรือไม่
       
ผอ. สมรัชนีกร   :     สกศ. ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทยมาแล้ว ๗ รุ่น มีครูภูมิปัญญาไทยทั้งหมด ๔๓๗ คน ซึ่งขณะนี้ครูภูมิปัญญาไทยจะมีอายุค่อนข้างมาก เสียชีวิตไปบ้าง บางจังหวัดไม่มีครูภูมิปัญญาไทย เช่น จังหวัดชัยนาท จังหวัดระนอง และจังหวัดสระแก้ว ดังนั้น ในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย รุ่น ๘ ครั้งนี้ สกศ. จึงพยายามหาครูภูมิปัญญาให้ครบ ๗๖ จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย ดังนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องครูภูมิปัญญาครบทั้ง ๗๖ จังหวัดและกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องได้ ๗๗ คน เพราะบางครั้งผลงานหรือองค์ความรู้ที่มีอาจยังไม่สามารถที่จะต่อยอดได้
       
 ผู้ดำเนินรายการ :      สกศ. จะมีแนวทางในการพัฒนาหรือขยายผลเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
 ผอ. สมรัชนีกร   :      ที่ผ่านมา สกศ. จะต่อยอดโดยการสนับสนุนให้ครูภูมิปัญญาไทยขยายเครือข่ายเป็นศูนย์การเรียนรู้เข้าไปยังสถานศึกษา และจะถอดบทเรียนของครูภูมิปัญญาไทยให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากเอกสารที่ถอดบทเรียนได้ เป็นต่อยอดและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาเหล่านี้
       
 ผู้ดำเนินรายการ :      สุดท้ายนี้ ขอให้ ผอ. สมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
 ผอ. สมรัชนีกร   :      สำหรับผู้สนใจสมัครหรือเสนอรายชื่อผู้ทรงภูมิปัญญา สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เลขที่ ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพ ๑๐๓๐๐ โทร ๐ ๒๖๖๘ ๗๑๒๓ ต่อ ๒๕๑๓ และ ๒๕๓๐ โทรสาร. ๐๒ - ๒๔๓ - ๑๑๒๙ เว็บไซต์ สกศ. www.onec.go.th ปิดรับสมัครวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ 
       
 ผู้ดำเนินรายการ :      ท่านใดที่ต้องการเสนอรายชื่อผู้ทรงภูมิปัญญาหรือปราชญ์ชาวบ้านให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายครูภูมิปัญญาไทยให้เกิดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยเป็นรากฐาน เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นการเสริมสร้างและสนับสนุนการพัฒนานโยบายและแผนด้านการจัดการเรียนรู้ของคนในชาติให้เพิ่มขีดความสามารถในวิถีชีวิต สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www. onec.go.th วันนี้ขอขอบคุณ ผอ. สมรัชนีกร อ่องเอิบ  ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
       
       
       .................................................................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด