สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐”

image

 
 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง สภาการศึกษาเสวนา “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐” วันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ  :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐” ขอเรียนถามเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งนี้ มีประเด็น วัตถุประสงค์ และสาระสำคัญอย่างไร 
       
ดร. จอมหทยาสนิท :      เมื่อวัน ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑๔ ในประเด็น สภาการศึกษาเสวนา “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐” โดยวัตถุประสงค์หลัก ๆ ในการจัดสภาการศึกษาเสวนา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำข้อสรุปไปเป็นประเด็นในเชิงนโยบายนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทางด้านการศึกษาของสังคม สำหรับประเด็นการพัฒนากำลังคน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำไปบรรจุในยุทธศาสตร์การศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี เพื่อสร้างประเทศให้ก้าวหน้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ  :      ในเวทีสภาการศึกษาเสวนาครั้งนี้ วิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมอภิปรายในครั้งให้ข้อเสนอ ข้อแนะนำ สาระสำคัญ หรือรือมุมมองที่น่าสนใจอย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     สภาการศึกษาเสวนาประเด็น “การพัฒนากำลังคนเพื่อสนองความต้องการของประเทศยุคไทยแลนด์ ๔.๐” นี้ มีผู้อภิปราย ๒ ท่าน ได้แก่ ๑) ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ๒) นายทัสพร จันทรี รองประธานอาวุโส สายงานการบริหารบุคลากรและประสิทธิภาพองค์กร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ทั้งสองท่านมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายอาชีพต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นไม่สามารถอยู่รอดได้ เราเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” แต่วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๒ ท่าน ได้กล่าวว่าคำพูดนี้ไม่ใช่แล้ว แต่จะเป็น “ปลาเร็ว กินปลาช้า” คือใครที่เร็วกว่า คนนั้นจะชนะ วิทยากรได้บัญญัติคำเพื่อเรียกโลกสมัยนี้ไว้ว่า VUGA ประกอบด้วย ๑) ความผันผวน ๒) ความไม่แน่นอน ๓) ความซับซ้อน และ ๔) ความไม่ชัดเจน เพราะปัจจุบันมนุษย์เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมาก แต่ถ้าไม่สามารถคัดกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเราจริง ๆ ได้ หรือไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เราจะแพ้ในทุกการแข่งขัน ดังนั้น ในโลกยุคใหม่จึงต้องเน้นทักษะเรื่องการคิดวิเคราะห์ ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรม ๔.๐ แล้ว มีเทคโนโลยีสำคัญ เช่น Cyber Physical System, cloud computing, Big Data, System Security เป็นต้น ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลาย ๆ  อาชีพ คนในยุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้มีทักษะที่พร้อมสำหรับโลกอนาคต โลกที่สามารถทำงานได้ทุกที่ มี AI มาทำงานแทนมนุษย์ ดังนั้น จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้ดิจิตอล การทำงานต้องมีเครือข่าย รู้จักสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาใหม่ สามารถนำข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจต่อไปได้  
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในโลกยุคปัจจุบัน บริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ หลาย ๆ แห่ง มีการลดการจ้างงาน โดยเฉพาะพนักงานประจำด้วย จะมีการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance) ซึ่งหมายความว่าคนในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ต่อไปในอนาคตต้องมีความสามารถทางด้าน IT ที่สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกแห่ง อาจจะรับงานแบบฟรีแลนซ์ แทนการจ้างงานประจำใช่หรือไม่
       
ดร. จอมหทยาสนิท :     

 ใช่ค่ะ คนรุ่นใหม่จำเป็นอย่างยิ่งต้องเก่งเรื่องภาษา เพราะภาษาจะเป็นกุญแจไปสู่ความรู้ต่าง ๆ ทักษะด้านดิจิตอล ทักษะในการจัดลำดับ การแยกแยะข้อมูลข่าวสาร ความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่นในโลกดิจิตอล ทักษะในการวิเคราะห์ ซึ่งทักษะนี้หุ่นยนต์ไม่สามารถแทนมนุษย์ได้

นอกจากนี้ วิทยากรให้มุมมองที่น่าสนใจว่าจะต้องเน้นทักษะดิจิตอล และทักษะด้านภาษา ดังนั้น ทุกคนจะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คนที่สามารถอยู่รอดได้จะได้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะเผชิญ เรียนรู้ และปรับตัวไปกับมัน

       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามองประเด็นนี้อย่างไร และภารกิจต่อไปที่จะมีการนำเรื่องนี้ไปบรรจุในแผนการศึกษาแห่งชาติจะเป็นลักษณะแบบใด
       
ดร. จอมหทยาสนิท :      

 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการวิเคราะห์และเสนอแผนการพัฒนากำลังคนไปสู่การเป็นไทยแลนด์ ๔.๐ โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรก คือ ระบบ Quick – Win  เป็นการพัฒนาคน ๕ กลุ่ม คือ ๑) กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ ๒) กลุ่มผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษา ๓) กลุ่มอุดมศึกษา ๔) กลุ่มผู้สูงอายุ และ ๕) กลุ่มวัยแรงงาน ที่จะตอบสนองการผลิตโดยเร็ว  ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงระยะต่อไปในอีก ๒๐ ปี เป็นการพัฒนาการจัดการศึกษาทั้งระบบให้คนพร้อมกับการรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง  โดยผ่านยุทธศาสตร์ทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา

       
ผู้ดำเนินรายการ  :       การดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปถึงขั้นตอนใด อย่างไร
       
ดร. จอมหทยาสนิท :      แผนการศึกษาแห่งชาติเสร็จสมบูรณ์ประมาณ ๙๙ เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่ได้ปรับแก้ไปคือจากเดิมแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นแผน ๑๕ ปี และได้มีการปรับเป็น ๒๐ ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี
       
ผู้ดำเนินรายการ  :       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจในเรื่องนี้ รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่า ในการปฏิรูปการศึกษาอาจจะไม่ต้องรอให้แผนการศึกษาแห่งชาติแล้วเสร็จ แต่สามารถทำได้เลย จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่
       
ดร. จอมหทยาสนิท :      ไม่มีค่ะ ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นเหมือนเข็มทิศว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด
       
ผู้ดำเนินรายการ  :       สุดท้ายนี้ ขอให้ ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สกศ. ฝากอะไรถึงท่านผู้รับฟังรายการ
       
ดร. จอมหทยาสนิท :      ขอฝากเกี่ยวกับการจัดสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum ในครั้งต่อไป ซึ่งเป็นครั้งที่ ๑๕ ในประเด็น “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นวิทยากร ซึ่งจะจัดในวันจันทร์ที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๓๐น. ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา www.onec.go.th
       
ผู้ดำเนินรายการ  :        สำหรับวันนี้ขอขอบคุณ ดร. จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร นักวิชาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับวงการศึกษา
       
        .........................................................................................................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
        
       
       
       
        
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด