สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ผลการติดตามและประเมินผลการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ผลการติดตามและประเมินผลการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ  :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. วัฒนาพร  ระงับทุกข์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา มาพูดถึงประเด็น “ผลการติดตามและประเมินผลการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี”ก่อนอื่นขอเรียนถามว่าในการดำเนินการติดตามเรื่องการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการจัดทำอะไรบ้าง อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาของอาชีวศึกษา ซึ่งอาชีวศึกษามีเป้าหมายที่สำคัญคือการผลิตผู้เรียนให้ออกไปเป็นแรงงานหรือกำลังฝีมือที่มีทักษะ สมรรถนะ ทัศนคติที่พร้อมต่อการทำงาน การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ แบ่งออกเป็น ๓ รูปแบบ ได้แก่
       
      ๑) การศึกษาในระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันเป็นหลัก โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดและประเมินผล ที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
       
      ๒) การศึกษานอกระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัด และประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
       
      ๓) การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐในเรื่องการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ในการผลิตและพัฒนากำลังคน สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันสามารถจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งในหลายรูปแบบรวมกันก็ได้ ทั้งนี้สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันนั้น ต้องมุ่งเน้นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นสำคัญ
       
      ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นการศึกษาที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของอาชีวศึกษามากที่สุด อาชีวะแปลว่าอาชีพ แสดงว่าเด็กที่เรียนต้องมีความรู้ ทักษะในอาชีพที่เรียนในสาขานั้น ๆ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการติดตามและประเมินผลในเรื่องดังกล่าวใช่หรือไม่
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ใช่ค่ะ เป็นเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษา และอยู่ในแผนการศึกษาแห่งชาติที่กำหนดให้ทำเรื่องนี้ด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ จำเป็นต้องนำผลของการติดตามประเมินมาปรับปรุงนโยบาย รูปแบบ วิธีการต่อไป
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     จากการประชุมสัมมนาที่ผ่านมา ได้ข้อค้นพบหรือมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการวิจัยติดตามประเมินผล ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของการวิจัย คือ ผลการจัดการอาชีวศึกษามีอะไรบ้าง ซึ่งจะพิจารณาในแง่ของนโยบายที่กำหนดลงไป กลไกสนับสนุน การกำกับดูแลจากภาครัฐ การจัดการในสถานศึกษาเป็นอย่างไร ความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนเป็นอย่างไร โดยจะพิจารณาในแง่ของปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น หาบทบาท แนวทางดำเนินการ วิธีการสนับสนุนที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จ
       
      วิธีการดำเนินการวิจัย โดยศึกษา ทบทวนจากเอกสาร ดูผลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการประเมินมาแล้ว ลงพื้นที่จริง ลงไปดูที่สถานศึกษา สถานประกอบการ ไปสัมภาษณ์ สังเกต ฯลฯ 
       
     

ผลการวิจัยพบว่า ๑) การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นระบบที่ดีในการยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษา เพราะที่ผ่านมามีคำกล่าวที่ว่าเด็กที่จบอาชีวศึกษาบางส่วนไม่ค่อยมีความรู้หรือทักษะจริง      ในการปฏิบัติงาน ดังนั้น การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่ให้เด็กได้ไปฝึกงานในสถานประกอบการถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ ๒) หลักเกณฑ์ มาตรฐานการจัดการของอาชีวศึกษา ที่ผ่านมามีเพียงหลักเกณฑ์ มาตรฐานเดียวและนำไปใช้กับทุกแห่ง แต่บริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ๓) ทัศนคติของผู้ปกครองที่มักมองว่าเด็กที่เรียนอาชีศึกษาและไปฝึกงานระบบทวิภาคี ต้องเป็นเด็กยากจน เพราะการฝึกงานจะได้รับเงินเดือนด้วย ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนไม่ส่งบุตรหลานไปเรียนอาชีวศึกษา ๔) ความร่วมมือของสถานประกอบการมีผลต่อความสำเร็จของการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพราะสถานประกอบการที่มาร่วมจัดการศึกษามี ๓ ลักษณะ ได้แก่ ๑) สถานประกอบการที่นำเด็กไปฝึกงานเพราะไม่มีแรงงาน จึงอยากให้เด็กไปฝึก และทำงานไปด้วย ๒) สถานประกอบการในลักษณะ CSR ตอบแทนสังคม จึงให้เด็กมาฝึกงานเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ๓) สถานประกอบการที่ต้องการบุคคลที่มีศักยภาพ ต้องการเด็กที่ทำงานจริงในอนาคต แต่สถานประกอบการมีปัญหา เพราะรับเด็กไปฝึกงานแต่ฝึกไม่ตรงกับสาขาที่เด็กเรียนมา ไม่มีการสอนงาน บางสถานประกอบการไม่มีความพร้อม เนื่องจากเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก ขาดครูฝึก และผู้ดูแลเด็ก ในความเป็นจริงแล้ว สถานประกอบการที่รับเด็กเข้าไปฝึกงานจะต้องมีมาตรการจูงใจ เช่น มีสิทธิในการลดหย่อนภาษี แต่เนื่องจากระบบการไปขอลดหย่อนภาษาค่อนข้างยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจของสถานประกอบการ

       
ผู้ดำเนินรายการ :     การการฟังข้างต้นนั้น ค่อนข้างพบปัญหาจำนวนมาก ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะมีนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     แม้ว่าจะมีปัญหามาก แต่เท่าที่ประเมินมาพบว่า นักศึกษาที่อยู่ในระบบทวิภาคี ผลเป็นที่น่าสนใจมากในแง่ทักษะ จบมาแล้วมีความรู้ มีฝีมือ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ สถานประกอบการหลายแห่งต้องการเข้าร่วมมากขึ้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเล็งเห็นว่าควรที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้ระบบทวิภาคีมีความชัดเจน เหมาะสมมากขึ้น และจะจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแก่กระทรวงศึกษาธิการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงบประมาณในการจัดการที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้น เพื่อตอบแทนครูผู้ฝึกสอนในสถานประกอบการ งบที่จะให้อาจารย์ออกไปนิเทศนักเรียน งบประมาณที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องนี้ และส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องไปปรับกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในการจูงใจ ให้สิทธิประโยชน์กับสถานประกอบการที่จะเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้มากขึ้น
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในการคัดเลือกสถานประกอบการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะมีส่วนในการร่วมคัดเลือกหรือไม่ อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ไม่มีส่วนคะ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเพียงให้ข้อเสนอแนะ วิธีการที่เป็นประโยชน์ ประเด็นที่สำคัญคือการไปเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้เข้ามามีบทบาทมากในพื้นที่ โดยมาร่วมจูงใจ คัดสรรผู้ประกอบการ และร่วมสนับสนุนในพื้นที่ ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะต้องไปดำเนินการ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ในเรื่องอุปลักษณะ นิสัยของนักเรียนที่เข้าร่วมระบบทวิภาคี มีการวิจัยในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ อย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     อาชีวศึกษามี ๒ ระดับ คือ ๑) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ๒) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พบว่า ปวช. ต้องเข้าไปดูแล เพราะเด็กอายุ ๑๖ – ๑๘ ปี ปัญหาวินัย วุฒิภาวะทางอารมณ์ยังค่อนข้างสูง การไปฝึกอาชีพในสถานประกอบการ การทำงานยังค่อนข้างเป็นประเด็นที่ต้องไปปรับปรุง ต้องมีการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนก่อนเข้าไปฝึก ส่วนในระดับ ปวส. ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมผู้เรียน สร้างความเข้าใจ ฝึกทักษะเบื้องต้นก่อนเข้าทำงานที่สถานประกอบการ
       
ผู้ดำเนินรายการ  :     ผลการติดตามและการสำรวจเหล่านี้ จะให้ข้อเสนอแนะอย่างไร กับทางภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ที่รับนักศึกษาไปร่วมในระบบทวิภาคี รวมทั้งการบอกนักศึกษา เพราะมีหลายแห่งที่บางทีนักศึกษาเองไม่พร้อม หรือไปทำในสิ่งที่ตนเองไม่ได้รัก ควรจะมีคำแนะนำอย่างไร
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     คำแนะนำอย่างแรกกับสถานประกอบการจะต้องชี้ความสำคัญว่าการที่สถานประกอบการเข้ามาให้ความร่วมมือ คือ มาตรการจูงใจชนิดประโยชน์ที่ทางรัฐจัดให้ เช่น ภาษี แต่ประเด็นสำคัญที่สุด คือ สถานประกอบการจะได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพ ฝึกทักษะให้กับผู้เรียน ในอาชีวศึกษา ซึ่งต่อไปคือกำลังคนของอนาคตของสถานประกอบการในอนาคตนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้มีคุณภาพตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าผลิตผลและผลิตภาพของการผลิตในระบบต่างๆ ก็จะดีขึ้น และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การใช้ระบบทวิภาคีของอาชีวศึกษามาถูกทาง จากผลการวิจัยพบว่าสามารถจะยกระดับฝีมือของกำลังแรงงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ทราบกันดีว่าประเทศไทยพยายามจะยกระดับประเทศให้เข้าสู่ ๔.๐ ซึ่งแน่นอนกลไกสำคัญของการเข้าสู่ ๔.๐ คือการสร้างทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตผลและนวัตกรรมให้กับประเทศได้ ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงเป็นกุญแจสำคัญ จึงต้องทำความเข้าใจกับตั้งแต่สถานประกอบการ สถาบันอาชีวศึกษา และผู้เรียนอาชีวศึกษาต้องเข้าใจและมีส่วนร่วม นอกจากตนเองได้ฝึกทักษะฝีมือแล้ว เป็นการฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสถานที่ปฏิบัติงาน และสำคัญที่สุดคือได้ค่าตอบแทน ดังนั้นจึงจะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดในทุกส่วน ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครอง เพราะว่าที่ผ่านมาเราก็ทราบกันดีว่าภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่สกัดกั้น ผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเนื่องจากจะเกรงในเรื่องของความรุนแรง แต่ตรงนี้จะชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กไปเรียนและได้ไปฝึกทำงานจริง จะสร้างความเป็นผู้ใหญ่ แล้วเราค้นพบว่าเด็กในระบบทวิภาคีแทบจะไม่มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับทะเลาะวิวาทหรือสร้างปัญหา
       
ผู้ดำเนินรายการ   :     เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการที่นักศึกษาจะเหมือนเป็นผู้ที่เชื่อมโยงโลกทั้ง ๒ ใบเข้าไว้ด้วยกัน คือ โลกแห่งการเรียนและโลกแห่งงานอาชีพ และเขาจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปสู่ในโลกของงานอาชีพด้วย ในขณะเดียวกันโลกแห่งงานอาชีพจะได้มีความรู้สึกถึงการจุดประกายในความคิดสร้างสรรค์ของน้อง ๆ บางทีก็จะทำให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในแวดวงทำงานมานานอยู่แล้วว่าน่าสนุกดี
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     ใช่ค่ะ ได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ อันนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
       
ผู้ดำเนินรายการ   :     ถ้าหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทนั้น ถ้าทำงานได้ดีอยู่แล้ว น้องๆ จะเป็นผู้ที่ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานนั้นๆ ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเขาจะต้องทุ่มเท และหลังจากฝึกงานเสร็จแล้วจะต้องมาทำงานที่นี่ให้ได้ เกิดความภาคภูมิใจอีกด้วยนะคะ ในท้ายนี้ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาจะฝากข้อคิดอะไรไว้กับน้องๆ อาชีวศึกษา รวมทั้งผู้ปกครอง รวมทั้งอวยพรปีใหม่ให้ผู้ฟังทุกๆ ท่านนะคะ
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :     อยากจะเรียนกับผู้ปกครองและนักศึกษานะคะว่า ทุกวันนี้ในโลกของการศึกษา เราก็เตรียมตัวเองเข้าไปสู่โลกแห่งชีวิตจริง คือ การทำงาน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้ความสำคัญกับการเรียนในระบบที่ได้รับใบปริญญาหรือการเรียนในมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง แต่เราก็ทราบดีว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป การเข้าไปทำงานในระบบราชการหรือการเข้าไปทำงานเชิงวิชาการนั้นค่อนข้างจะลดน้อยลง แล้วค่าตอบแทนก็ได้ไม่มากเหมือนสมัยก่อน แต่ในขณะเดียวกันสมัยนี้สังคมของเรา โลกของเราเปลี่ยนไป เราต้องการคนที่มีทักษะและสมรรถนะ โดยเฉพาะในเชิงของการผลิตในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะต้องไปช่วยให้สังคมเราให้ก้าวทันกับโลก เพราะฉะนั้นการเข้าเรียนอาชีวศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ด้อยต่อไปแล้ว แต่ในอนาคตคือเป็นงานอาชีพที่สร้างรายได้ มีอาชีพที่ดี และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การได้มีวิถีชีวิตที่เหมาะสม พอเพียง และก้าวทันโลก ดังนั้นอยากจะขอให้ผู้ปกครองและน้องๆ ได้พิจารณาเข้าไปเรียนในสาขาที่จะทำให้เราได้มีอาชีพในอนาคต และสุดท้ายนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเองได้ร่วมกับทางสถานีวิทยุดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของงานและการศึกษาที่จะช่วยยกระดับประเทศให้ก้าวทันโลก คิดว่าที่ผ่านเราก็ได้ร่วมกันสร้างประโยชน์ หวังว่าท่านผู้ฟังที่ติดตามรายการนี้ก็คงจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย ในโอกาสที่จะขึ้นปีใหม่นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาใคร่จะขออวยพรผู้ฟังทุกท่าน โดยจะขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ของประเทศ โปรดจงดลบันดาลให้ท่านผู้ฟังทุกท่าน รวมทั้งผู้ดำเนินรายการ จงประสบแต่ความสุขความเจริญ ขอให้มีชีวิตที่มีความสุข ทั้งในแง่ของการงานและการดำรงชีวิต ซึ่งก็ขอให้เป็นปีที่ประสบแต่ความสำเร็จตลอดไปนะคะ
       
ผู้ดำเนินรายการ   :     ขอขอบพระคุณนะคะ ท่าน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กับรายละเอียดเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาในการพัฒนาแง่มุมต่างๆ พร้อมกับคำพรปีใหม่ให้กับคุณผู้ฟังทุกท่านและพวกเรา
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด