จดหมายถึง IMD กรณีสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล พ.ศ 2559 (IMD2016)

image

             เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาหน่วยงาน International Institute for Management Development (IMD) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ออกผลการจัดอันดับสมรรถนะการแข่งขัน IMD World Competitiveness Yearbook ประจำปี 2559 ซึ่งการคำนวณการจัดอันดับของ IMD เป็นการวิเคราะห์จาก 340 ตัวชี้วัด จาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยแบ่งแหล่งข้อมูลออกเป็นข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลจากแบบสำรวจ ใน IMD2016 นี้มีผู้ตอบแบบสำรวจจากภาคธุรกิจ 5,400 คนทั่วโลกน้อยลงกว่า IMD2015 ที่มีผู้ตอบแบบสำรวจ 6,200 คน ผลการจัดอันดับในภาพรวม ประเทศสหรัฐอเมริกาแชมป์เก่าเขตเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะการแข่งขันสูงที่สุด ตกอันดับลงมาอยู่ในอันดับ 3 โดนแซงไปโดยฮ่องกงและสวิสเซอร์แลนด์ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก พบว่ามีการไต่อันดับขึ้นอย่างมาก นำมาโดยลัตเวีย สโลวาเกียและสโลวีเนีย ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาครัฐ ในขณะที่ภูมิภาคละตินอเมริกา ชิลีมีอันดับดีที่สุด คือ อันดับที่ 36 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ใน 20 อันดับรั้งท้ายของตาราง 

             สำหรับภูมิภาคเอเชีย นอกจากฮ่องกง (อันดับ 1) และสิงคโปร์ (อันดับ 4) ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศสมาชิก 61 ประเทศแล้ว มีเพียงญี่ปุ่น อินเดียและไทยเท่านั้นที่มีอันดับดีขึ้น ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 28 ใน IMD2016 อย่างไรก็ดี ความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคตกลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
             แม้อันดับในภาพรวมของประเทศไทยจะสามารถไต่ขึ้นจากอันดับ 30 เป็นอันดับ 28 แต่สมรรถนะการศึกษาของประเทศไทย พ.ศ. 2559 (IMD2016) กลับมีอันดับตกลงถึง 4 อันดับ จากอันดับ 48 ลงมาที่อันดับ 52 ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดด้านการศึกษาทั้ง 18 ตัวแล้ว จะเห็นว่าตัวชี้วัดที่เคยเป็นที่กังวลของการศึกษาไทยเมื่อปีที่แล้วคือ 5 ตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลจากแบบแบบสำรวจ ได้แก่ ความคิดเห็นต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของระบบการศึกษา ความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ความคิดเห็นต่อการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการศึกษา และความคิดเห็นต่อทักษะด้านภาษา ใน IMD2016 ตัวชี้วัดที่มาจากข้อมูลแบบสำรวจทั้ง 5 ตัวมีอันดับดีขึ้น แม้จะยังไม่น่าพอใจนักเมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน

             อย่างไรก็ดี แล้วอันดับสมรรถนะการศึกษาของเราตกลงมาได้อย่างไร ในเมื่อข้อมูลจากแบบสำรวจดีขึ้น เราก็ต้องมาพิจารณาตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลสถิติ ข้อมูลสถิติส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลมาจากปีเดียวกัน อันดับของตัวชี้วัดแต่ละตัวจึงไม่ขยับหรือเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจจะมีขึ้นหรือลงบ้างเนื่องมาจากความเร็วในการพัฒนาของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน สำหรับ IMD2016 มีข้อสังเกต คือ
             ตัวชี้วัดงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาต่อนักเรียนและผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทใช้ข้อมูลสถิติปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) แล้วเหตุใดจำนวนร้อยละที่นำมาคำนวณอันดับจึงมีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

             ทั้งสองตัวชี้วัดนี้เป็นตัวชี้วัดใหม่ใน IMD 2015 ที่ประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับดีทั้งสองตัว แต่เมื่อมา IMD2016 อันดับกลับตกลงไปค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้องพิจารณากันอย่างละเอียดและทำให้พบว่า ตัวชี้วัด “งบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาต่อนักเรียนมัธยมศึกษา” และ “ผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท” ใช้ข้อมูลสถิติปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) แต่จำนวนร้อยละที่นำมาคำนวณอันดับมีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับตัวชี้วัดงบประมาณภาครัฐที่ใช้ในการศึกษาต่อนักเรียนมัธยมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 37 อยู่ในอันดับ 2 ใน IMD2015 แต่ใน IMD2016 กลับกลายเป็นร้อยละ 19.7 และอยู่ในอันดับ 33 ตกลงมาถึง 31 อันดับ ตัวชี้วัดผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทนั้น ใน IMD2015 มีอัตราส่วนคิดเป็นร้อยละ 60.9 และอยู่ในอันดับที่ 23 แต่ใน IMD2016 อัตราส่วนร้อยละลดลงเหลือร้อยละ 57.1 ทำให้อันดับลงมาอยู่ที่ 32 ลดลงถึง 9 อันดับ
             ในการนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดอันดับสมรรถนะของ IMD ให้มีความน่าเชื่อถือ และประเทศสมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากการจัดอันดับของ IMD มากขึ้น จึงอยากให้ IMD ได้ทบทวนวิธีการนำข้อมูลมาใช้สำหรับการจัดอันดับ ในฐานะของนักการศึกษา ตระหนักดีว่าการศึกษาไทยยังต้องพัฒนาอีกมากและเราไม่ควรยึดติดการพัฒนาเพียงเพื่อให้ได้รับการจัดอันดับที่ดีเท่านั้น แต่หากข้อมูลที่นำไปคำนวณมีความล้าสมัยและคลาดเคลื่อนนั่นก็หมายความถึงความน่าเชื่อถือและความน่าลงทุนของประเทศไทยได้ลดลงไปด้วย

ที่มา:
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.). (2559). สมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล พ.ศ. 2558 (IMD2015). กรุงเทพฯ
- International Institute for Management Development (IMD). (2015). IMD World Competitiveness Yearbook 2015. IMD: Switzerland
- International Institute for Management Development (IMD). (2016). IMD World Competitiveness Yearbook 2016. IMD: Switzerland

โดย ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร 
สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา

  

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด