สกศ. เปิดโต๊ะหารือเชื่อมโยง NQF สู่ "ระบบอุดมศึกษา" ปูทาง Education for All

image

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) กับการจัดการระดับอุดมศึกษา (Higher Education) โดยมีนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา นางสาวกาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ นางศิริพรรณ ชุมนุม ทรงคุณวุฒิ และ ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยบุคลากรจากสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ.

ดร.นิติ นาชิต กล่าวเปิดการประชุมโดยแสดงวิสัยทัศน์ถึงความสำคัญของการนำ NQF มาเชื่อมโยงสู่การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและความพิเศษหลากหลาย สังเกตได้จากวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมีจุดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์หลักสูตรแตกต่างกันไปในแต่ละแห่งเพื่อให้ตอบโจทย์กับตลาดงาน ด้วยความหลากหลายถือเป็นข้อดีแต่ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตด้วยคือบางหลักสูตรอาจมีมาตรฐานเชื่อมโยงอยู่องค์กรต่าง ๆ เช่น สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี สะท้อนให้เห็นว่าการเชื่อมโยงจะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ด้วยเหตุนี้จึงเปิดการประชุมหารือถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนโอกาส ความท้าทาย และปัจจัยสำเร็จต่อการเชื่อมโยง NQF

ภายในที่ประชุมเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก และข้าราชการร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการเชื่อมโยง NQF สู่การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีการอภิปรายซักถามแนวทางการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับการอุดมศึกษาว่าควรมีรูปแบบเป็นเช่นไร ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของตนต่อการทำงานด้านกรอบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์แนวทางการเชื่อมโยง NQF สู่การอุดมศึกษา พร้อมด้วยแนะนำเครือข่ายสถานอุดมศึกษาที่สามารถใช้ศึกษาหาข้อมูลเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยง 

ในด้าน ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของนโยบายการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของงานด้านมาตรคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education, TQF) ที่มีทั้งข้อดีและจุดเจ็บปวด (Pain point) ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ควรได้รับการพัฒนาแก้ไข มีการกล่าวถึงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาไทยว่ายังต้องการภาคประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมต่อการสร้างการศึกษามากขึ้น ในด้านความท้าทายนั้นพบว่าหลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนมากและหลากหลายอุตสาหกรรมหากมีการเชื่อมโยงก็ควรทำอย่างครอบคลุมให้ทั่วถึง นอกจากนี้ยังเห็นว่ารูปแบบของ NQF ควรมีข้อมูลที่เพียงพอต่อทุกแขนงและควรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการร่างใหม่ 

ผู้ร่วมอภิปรายนำเสนอข้อมูลของตนที่เคยมีการสำรวจในเนื้อหางานที่ใกล้เคียงกับ NQF โดยยกตัวอย่างการทำระบบสำรวจทักษะงาน Skill Mapping ซึ่งระบบสำรวจความต้องการทักษะการทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการนำมาประยุกต์เชื่อมโยง NQF จากการประชุมครั้งนี้ถอดบทเรียนได้ว่า NQF นั้นมีสำคัญและความจำเป็นแต่ควรจะมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนที่ถูกต้อง สำหรับประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุม สกศ. จะนำมาพัฒนาเพื่อการเชื่อมโยง NQF สู่การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและครอบคลุมต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด