สมัชชาสภาการศึกษาภาคใต้ พร้อมผนึกเครือข่าย สู่การยกระดับการศึกษาในระดับชาติ

image

วันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมการยกระดับกลไกการมีส่วนร่วม “สมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาค (Regional Education Assembly)” ครั้งที่ 3 ภาคใต้ จังหวัดกระบี่ โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมประชุม อีกทั้ง ได้รับเกียรติจากนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานและเปิดประชุม นายธาดา เศวตศิลา กรรมการสภาการศึกษา นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยผู้แทนสมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สภาเด็กและเยาวชน ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวัฒนพลเมือง หน่วยงานเอกชน มูลนิธิ ภาควิชาชีพ รัฐวิสาหกิจชุมชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรมกระบี่รีสอร์ท จังหวัดกระบี่

ในการประชุมนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้งรองผู้ว่าราชการกระบี่ ได้แสดงวิสัยทัศน์มุ่งเน้นถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระดับพื้นที่ โดยต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนผ่านการร่วมมือของกลุ่มสมัชชา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งมองว่าการร่วมมือกันของกลุ่มสมัชชาสภาการศึกษาเป็นไปเพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและลดการเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในประเทศมากขึ้น ต่อมาในช่วง “สภาการศึกษา : แชร์ผลลัพธ์ ปรับมุมใหม่ สมัชชาการศึกษาแบบไหนตรงใจคนบ้านเรา” ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา  กล่าวถึงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ภายใต้การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ 8 ด้านของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยสภาการศึกษาได้รับฟังเสียงจากภาคประชาชน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการขับเคลื่อนการศึกษา โดยดูแลผู้เรียนทุกมิติ พร้อมยกระดับการเรียนรู้ภายใต้กรอบคุณวุฒิสู่การเก็บสะสมในระบบธนาคารหน่วยกิต เมื่อเกิดความเชื่อมโยงสู่การจัดการเรียนรู้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

ต่อมาได้สรุปประเด็นจากการอภิปรายกลุ่มย่อย (Focus Group) ของภาคใต้ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 สรุปประเด็น ดังนี้ 

  • มติที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ควรกำหนดเกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิตให้ชัดเจน แสวงหาความร่วมมือของหน่วยงานแต่ละภาคส่วนในการจัดทำระบบ Credit Bank รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การเลือกสถานประกอบการ/หน่วยงาน/บุคคล ในการเข้าร่วม Credit Bank จัดการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นหาความถนัดของตัวเอง จัดทำ และปรับปรุงหลักสูตร รวมทั้งควรพัฒนาสนับสนุนด้านความฉลาดรู้ทางการเงินและดิจิทัล 
  • มติที่ 2 ระบบนิเวศการเรียนรู้ ควรพัฒนาการเรียนรู้และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้แบบดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และบำรุงรักษาให้ใช้ได้จริงอยู่เสมอ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ รวมทั้งยกระดับพื้นที่ของชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะของคนทุกช่วงวัย พร้อมพัฒนาให้ทันสมัย เข้าถึงง่าย มีช่องทางการเข้าถึงข้อมูล/ความรู้ หรือช่องทางการเรียนรู้ (Platform) ทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่แนะแนวการศึกษา

ต่อมา นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวในหัวข้อเรื่อง “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE) สู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” เกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนบูรณาการของ กสศ. อันประกอบด้วย 1) การพัฒนากลไกการจัดการในพื้นที่ 2) การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส 3) การรณรงค์ขับเคลื่อน 4) การพัฒนานวัตกรรมและตัวแบบสร้างโอกาสทางการศึกษา และ 5) ถอดบทเรียนและการติดตามประเมินผล อกรอบแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นการกระจายอำนาจ รวมทั้งยังตั้งเป้าหมายให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา  (Thailand Zero Dropout) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี สำหรับในหัวข้อ Financial literacy โดยนายธาดา เศวตศิลา อนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญว่าความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนควรได้รับการสนับสนุนในการเรียนรู้ อีกทั้งผู้สอนเองก็ควรมีประสบการณ์ และสมรรถนะที่สูงขึ้นเพื่อนำการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้

หลังจากนั้นได้ร่วมเสวนาในช่วงคลินิกเพื่อนสมัชชาการศึกษา  นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่  พร้อมนายมานพ กาญจนบุรางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนกับสมัชชาภาคีเครือข่ายแสดงความคิดเห็น ในหัวข้อ Best Practice จากสมัชชาที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ โดยได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สกศ. กระบี่ ในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยมีบุคลากรที่มีทักษะและสมรรถนะสูงพร้อมสนับสนุนการจัดการศึกษาภายในกระบี่ อีกทั้งมีแผนสนับสนุนในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการวิชาการในภาคอันดามัน ส่งเสริมในมิติอาชีพ การเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์ การพัฒนาการประมงที่ยั่งยืน ซึ่งสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ได้อนุรักษ์ พัฒนาสิ่งที่มีในพื้นที่ให้เกิดแหล่งเรียนรู้ เพื่อคนในพื้นที่ได้นำไปใช้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังให้ความเห็นเกี่ยวกับกลไกแก้ปัญหาเชิงพื้นที่จากผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ ว่าความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษายกระดับขึ้นมากกว่าเดิม

การจัดการอภิปรายกลุ่มย่อยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาคเขตพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ ทำให้บุคลากรทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหาแนวทางการจัดการศึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยน เสนอแนวคิดต่อมุมมองการศึกษาในเขตพื้นที่ของตน สู่การพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษารวบรวมข้อมูล ประเด็นต่าง ๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาในมุมมองฉากทัศน์อนาคต (Scenario) ปรับปรุงประเด็นด้านการศึกษาจากมติสมัชชาการศึกษาระดับภูมิภาค สู่การนำเสนอเข้าระเบียบวาระสำหรับการประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด