สกศ.กางแผนยกระดับแข่งขันการศึกษา วางเป้าปี’๗๐ เด็กไทยทัดเทียมนานาชาติ

image

วันนี้ (๒๐ มกราคม ๒๕๖๖) ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ร่วมประชุมคณะทำงานวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ โดยนางรุ่งเรือง สุขาภิรมย์ เป็นประธานคณะทำงาน ฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงานและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนหารือ ณ ห้องพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สกศ.

.

ที่ประชุมคณะทำงานฯ ร่วมพิจารณากรอบการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาและประเด็นที่ควรดำเนินการในระยะต่อไป โดยแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ครอบคลุม ๕ ประเด็น ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมอาชีพ การผลิตและพัฒนาครู การวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับ

National Statement ของประเทศไทย ในการประชุม Transforming Education Summit 2022 ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติ

.

สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน และร่วมมือกันพัฒนาสมรรถณะทางการศึกษาของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดภายใต้ยุทธศาสตร์ซาติ รวมทั้งเป็นไปตามมติที่ประชุมสภาการศึกษา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ประกอบด้วย ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การยกระดับผลการประเมิน PISA: เด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การยกระดับผลการจัดอันดับ IMD: เด็กไทยทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ความสามารถทางการศึกษาลดลง และการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การยกระดับผลการจัดอันดับ WEF: การศึกษาสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงได้เพียงพอต่อตลาดแรงงาน และเด็กไทยทุกคนมีงานทำ มีทักษะที่ตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ

.

โดยมีแนวทางดำเนินงานแบ่งเป็น ๑) ระยะสั้น เน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนรับทราบผลการจัดการศึกษาตามประเด็นที่ปรากฎอยู่ในแบบสำรวจความคิดเห็นและปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูล และการคำนวณค่าสถิติทางการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ๒) ระยะยาว สร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนในการพัฒนาการจัดการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาผลการประเมิน PISA IMD และ WEF ที่เน้นการดำเนินงานร่วมกัน และ ๓) การติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับติดตามให้การดำเนินการตามแนวทางระยะสั้นและระยะยาวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

.

ทั้งนี้ การก้าวสู่ยุค VUCA & BANI World ทำให้แต่ละประเทศมีการปรับตัวจึงเกิดความแข่งขันในการพัฒนาประเทศสูงขึ้น การศึกษาจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาไทย การติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษาของประเทศและต่างประเทศตลอดจนแนวโน้มและทิศทางการศึกษาของประเทศ จะสามารถต่อยอดสู่การวางแผนสร้างจุดแข็งทางการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้ในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด