อนุกรรมการ กกส. เดินหน้าขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ

image

วันนี้ (๒๐ มกราคม ๒๕๖๖) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายธนู ขวัญเดช) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ โดยมี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมมจิตโต) เป็นประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงานจริยธรรม (นางรุจิรา สุนทรีรัตน์) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงาน ก.พ. เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

.

คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ  เป็นคณะที่ ๘ ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา แต่งตั้งโดยประธานกรรมการสภาการศึกษา (นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ตามคำสั่งสภาการศึกษา ที่ ๑/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ โดยมี พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมมจิตโต) เป็นประธานอนุกรรมการฯ รองศาสตราจารย์สุริยเดล ทรีปาตี เป็นรองประธานอนุกรรมการฯ  มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ ๑) พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะให้กับผู้เรียน ๒) ดำเนินการประสานทุกศาสนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม ๓) พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของพลเมือง และความรับผิดชอบต่อสังคม ๔) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการมอบหมาย ๕) เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม รวมทั้งจัดหา รวบรวม จัดส่งหรือชี้แจงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ๖) รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ อย่างกว้างขวาง อาทิ ๑) การจัดทำนโยบายทางการศึกษาต้องให้สอดคล้องกับคุณธรรมจริยธรรม โดยต้องคำนึงถึง ๔ องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ วิถีชีวิต ดำเนินงานผ่านกิจกรรมหรือการเล่น วัดด้วยฐานสมรรถนะ และเอื้อต่อชุมชนการเรียนรู้ได้ ๒) การเรียนไม่ควรเรียนเพื่อสอบ แต่เป็นการเรียนเพื่อไปทำกิจกรรมต่อหรือปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ๓) การวัดหรือประเมินวิชาศาสนาจริยธรรม ต้องวัดจากจิตพิสัย ประเมินตนเอง ประเมินจากครูหรือผู้ปกครอง ไม่ใช่วัดจากการสอบโดยการกากบาท ๔) ถ้าการศึกษามีแค่ Output บ้านเมืองจะมีปัญหา การศึกษาไม่เป็นที่พึ่งของสังคม ๕) ภาพรวมแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินงานขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ควรนำข้อมูลที่ได้มาบูรณาการกำหนดเป็นกรอบนโยบายทางการศึกษาที่สามารถจับต้องได้ให้เห็นเป็นรูปธรรม และมีผลกระทบต่อระบบการศึกษา ๖) ควรนำ BOMC Model มาใช้ในการประเมินคุณธรรม ซึ่งประกอบด้วย ๔ องค์ประกอบ ได้แก่ B = Behavior คือ พฤติกรรมของคน (ผลงานรายบุคคล บทบาทหน้าที่ ความเชี่ยวชาญ สมรรถนะ) O = Organization คือ ระบบขององค์กร/ทีม (โครงสร้าง กระบวนการ วิถีปฏิบัติ ยุทธศาสตร์ อำนาจหน้าที่) M = Mindset คือ ความเชื่อ/mindset (ความคาดหวัง ความต้องการ การรับรู้ คุณค่า เสียงเรียกแห่งชีวิต) และ C = Culture คือ วัฒนธรรมองค์กร/ทีม (เป้าประสงค์ร่วม ค่านิยมร่วม บรรยากาศ ความไว้ใจ) ๗) ควรมีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ๘) ควรสร้างชุมชนระบบนิเวศน์ให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรศาสนา เป็นต้น

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด