อรรถพล ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ขยายเครือข่ายพัฒนากำลังคน รองรับ VUCA World

image

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕  เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล) นำทีมข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ - ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยได้รับเกียรติจาก เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นายพีรศักดิ์ รัตนะ) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (นายณรงค์ วุ่นซิ้ว) พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี จังหวัดภูเก็ต


.
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการทำงานในโลกที่ผันผวน" โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์โลกแห่งความผันผวน (VUCA World)   ซึ่งเป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ทั้งการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-๑๙  สำหรับแนวโน้มความต้องการกำลังคนและสมรรถนะที่สำคัญจะเน้น ๕ ทักษะที่จำเป็นในอนาคต ได้แก่ ๑) ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และการแก้ปัญหา ๒) ความรู้ทางธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ๓) การคิดเชิงสร้างสรรค์ ๔) การทำงานร่วมกับผู้อื่น และ ๕) การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลายที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบ และสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
.

 
ดร. อรรถพล กล่าวต่อว่า สกศ. ในฐานะหน่วยนโยบายทางการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศการศึกษาของประเทศ เร่งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวางแผนพัฒนากำลังคน โดยการจัดการจัดการศึกษา เพื่อรองรับรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตที่จะเปลี่ยนไป ภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมพยายามศึกษาความต้องการกำลังคนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นความต้องการฝั่งผู้ใช้กำลังคน ส่วนผู้ผลิตจะนำข้อมูลไปกำหนดเป็นนโยายในการจัดการศึกษาให้มีการเรียนการสอนในสาขาอาชีพที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งเป็นการคาดการณ์อาชีพที่จำเป็นในอนาคต มาตรการเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องบูรณาการความร่วมือกัน ได้แก่ ๑) การยกระดับสมรรถนะกำลังคน โดยเพิ่มทักษะที่มีอยู่เดิน (Upskill) ด้วยทักษาะความรู้ที่ใหม่กว่า และเปลี่ยนทักษะ (Reskill) ด้วยการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่สายงานเดิม ๒) การพัฒนาระบบและกลไกที่สำคัญ เช่น ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ๓) การสร้างสิ่งแวดล้อมในโลกการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ๔) การปรับระเบียบ กฎเกณฑ์ เพื่อปลดล็อคการจัดการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่น

"ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสมรรถนะของกำลังคนให้สามารถเทียบเท่ากับระดับภูมิภาคอาเซียน และสากลด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย โดยภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น" เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว 


.
ด้าน นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ร่วมเสวนาเรื่อง "การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน" ซึ่งสะท้อนมุมมองและแนวคิดที่มีความหลากหลายผ่านมุมมองวิทยากรชั้นนำ อาทิ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจรัล ส่างสาร เลขาธิการและรองประธานสภาหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นางสาวพัชลี เชาว์พลกรัง ศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต นายเพิ่มเกียรติ เกษกุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดภูเก็ต และนายศาสวัส หลิมพานิชย์ นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนนอกระบบภูเก็ต 


.
นางรัชนี พึ่งพาณิย์กุล กล่าวว่า หน้าที่อีกประการหนึ่งของ สกศ. คือการเป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ภายใต้กการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของผู้ใช้กำลังคน และมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานของภูมิภาคอาเซียนและสากล ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้
.
นางรัชนี กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ เพื่อการมีงานทำ” เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนคุณภาพ มีสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และสากล ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สำเร็จการฝึกอบรม สามารถมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ตามปรัชญาของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ คือ “เพิ่มคุณภาพ เพิ่มคุณวุฒิ เพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้” 
.


"นอกจากนี้  สกศ. มีแนวทางบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยร่วมมือกับ สช. ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมของโรงเรียนเอกชนนอกระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ซึ่งต้องสามารถเทียบเคียงระดับสมรรถนะกับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ เพื่อยกระดับสมรรถนะของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและรับรองจาก สช. แล้วให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับการรับรองสมรรถนะที่จะสามารถเก็บสะสมและเทียบโอนสมรรถนะที่ได้จากการฝึกอบรมเพื่อขอรับคุณวุฒิการศึกษาหรือขอประเมินเพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในอนาคต ผ่านระบบธนาคารหน่วยกิต รวมถึงมีโอกาสในการเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ภายใต้หลักการของกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของคนในภูมิภาคอาเซียนให้มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันและเทียบเท่าสากล" ผอ. สนผ. กล่าว

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด