สกศ. ผนึกกำลังภาคีอีสาน เดินหน้า Green Education เชื่อมท้องถิ่นสู่แผนการศึกษาแห่งชาติ

วันที่ 4 – 5 มิถุนายน 2568 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดนครพนม” โดยมี นางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง พร้อมผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมเวลาดี จังหวัดนครพนม
ดร.นิติ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาขับเคลื่อนภารกิจกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ พร้อมต้องมองภาพรวมทิศทางของการศึกษาในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น Green Education จึงเป็นสิ่งที่จะพัฒนาคนและปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับคนทุกช่วงวัยสู่การเป็นพลโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยใช้กระบวนการจัดการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการประสานความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงส่วนกลาง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็สอดคล้องกับการดำเนินงานของ UNESCO เช่นกัน
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายพิภพ พิทักษ์ศิลป์ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา นางวรรณางค์ พรรณนาไพรและนายพิทักษ์พงษ์ หอมนาน กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงพื้นที่โรงเรียนศรีบัวบานวิทยาคม ถอดบทเรียนเกี่ยวกับปัจจัยความสำเร็จของสถานศึกษาในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีนายพิทักษ์ เกียรติบรรเทา ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีบัวบานวิทยาคม คณะครูและนักเรียน นำเสนอการบริหารจัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนคุณภาพตามมาตราฐานการศึกษาโดยยึดหลักเศรษฐกิจเพียงพอ ประกอบด้วยกิจกรรมเสริมสร้างสมาธิและทำให้ผู้เรียนเกิดสุขภาพพลานามัยที่ดี รวมถึงกิจกรรม Zero Waste School โรงเรียนปลอดขยะ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจากผู้บริหารในโรงเรียน พร้อมจัดกระบวนการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับขยะมูลฝอยให้กับบุคลากรในโรงเรียนสำหรับการจัดการขยะใช้หลัก 3R (Reduce / Reuse / Recycle) โดยมีเครือข่ายในท้องถิ่นให้การสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เรียนได้เกิดจิตสำนึก ฝึกระเบียบวินัย ฝึกการรับผิดชอบในหน้าที่บริบทของตนเอง ผู้อื่นและสังคม นำไปสู่คุณลักษะณะที่ดีของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำในการต่อยอดมูลค่าทางเชิงพาณิชย์และการบันทึกสถิติ ข้อมูลของปริมาณขยะที่ใช้ต่อผลผลิตที่ได้รับเพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมิน ติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การดำเนินงานอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 มิถุนายน 2568 ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนในจังหวัดนครพนมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนางสาวกิ่งกาญจน์ กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดการศึกษาที่รองรับกับสภาวการณ์ดังกล่าว ซึ่งภารกิจของสภาการศึกษาเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางสาวจอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ บรรยายหัวข้อ “การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ตามยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1) คนทุกช่วงวัยมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) มีหลักสูตร แหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3) การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้พัฒนาผู้เรียนเกิดคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้
จากนั้นแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ผู้บริหาร 2) ครู 3) ชุมชน ครอบครัว และ 4) นักเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมนำเสนอเกี่ยวกับ “แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของจังหวัดนครพนม กลุ่มผู้บริหารได้ดำเนินการจัดทำนโยบายระดับเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนและคนในชุมชนเกิดแหล่งเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนของสถานศึกษาได้รับแนวนโยบายของพื้นที่ออกแบบการเรียนรู้ จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิดและปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นโค้ชคอยให้การแนะนำ ในขณะเดียวกันชุมชนก็ได้จัดแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมที่เสริมสร้างจิตสำนึกให้กับคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
สกศ. จะรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับ Green Education สู่การสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้คนทุกช่วงวัยเกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและเกิดการเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับคุณภาพการศึกษา สู่การพัฒนาทุนมนุษย์ และระหว่างวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2568 สกศ. จะไปร่วมลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจากภาคีเครือข่ายภาคตะวันออก ณ จังหวัดระยอง เป็นครั้งต่อไป

