บทเรียนจากเกาหลีกับบทบาทของสภาการศึกษา

image

บทเรียนจากเกาหลีกับบทบาทของสภาการศึกษา

ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร
สำนักนโยบายและแผนการศึกษา

๑. บทนำ
             การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคน สังคมและประเทศ การกำหนดนโยบายที่มีคุณภาพและการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีความสำคัญยิ่งในการทำให้คนไทยได้รับโอกาสการพัฒนาเต็มตามศักยภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อีกทั้งยังประโยชน์ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เป็นอย่างดี

๒. เกาหลี การวิจัยและพัฒนา ประเทศที่มีรายได้สูง
             การเข้าอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะการทำงานสำหรับข้าราชการ ผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS Capability Development Program) ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้แนวคิดและหลักการพัฒนาประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้
             ๒.๑ สาธารณรัฐเกาหลีเริ่มต้นการสร้างชาติ ในช่วงปี ค.ศ. 1960 จากความต้องการอย่างยิ่งที่จะหลุดออกจากความเป็นประเทศยากจน ด้วยการนำของประธานาธิบดีปาร์ค ซูงฮี และนโยบายในการวางรากฐานของประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนา ๒ ด้านสำคัญ คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเศรษฐกิจและสังคม
             ๒.๒ นโยบายการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นไม่ได้รับการกำหนดและพัฒนาขึ้นตั้งแต่ในขั้นแรก แต่ในขณะนั้นสาธารณรัฐเกาหลียากจนมากทำให้เกิดข้อจำกัดหลายด้านโดยเฉพาะความไม่มั่นใจต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติอันเนื่องมาจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในขณะนั้น จากข้อจำกัดดังกล่าว สาธารณรัฐเกาหลีจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (No option, but ‘outward-looking technology strategy’.)
             ๒.๓ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Institute of Science and Technology: KIST) ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปีค.ศ.1966 มีบทบาทในการเป็นคลังสมองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาประเทศตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา KIST มีเป้าหมายเพื่อนำคุณภาพชีวิตที่ดีมาสู่เกาหลีและสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
             ๒.๔ สถาบันการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Development Institute: KDI) ได้รับการจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ.1971 ให้เป็นคลังสมองด้านการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และทำให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ ๕ ปีขึ้นในที่สุด KDI ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมและเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมให้กับรัฐบาลมากว่า ๕๐ ปี อีกทั้งยังขยายเครือข่ายออกสู่สากลโดยมีพันธมิตร อาทิ UNESCO World Bank และ OECD เป็นภาคีสำคัญ
             ๒.๕ จากที่กล่าวมาข้างต้นในข้อ ๒.๒ เมื่อความยากจนก่อให้เกิดข้อจำกัดด้านการลงทุนของต่างประเทศ เนื่องจากต่างชาติขาดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลี การเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐเกาหลีจึงเริ่มต้นด้วยการรับจ้างผลิตเลียนแบบผลิตภัณฑ์ และผลิตใช้ในประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท LG เรียนรู้เทคโนโลยีจากบริษัทฮิตาชิของญี่ปุ่น โดยนอกจากจะเป็นฐานการผลิตโทรทัศน์ให้กับบริษัทฮิตาชิแล้ว LG ยังส่งวิศวกร ๗ คนไปฝึกอบรมที่บริษัทฮิตาชิ และเชิญวิศวกรของบริษัทฮิตาชิมาเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น การพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ บนพื้นฐานการเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างชาติและต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไปด้วยการลงทุนจากรัฐบาล จะเห็นได้ว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการเริ่มต้นธุรกิจของภาคเอกชน อีกทั้งยังโอบอุ้มภาคเอกชนให้สามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาดในประเทศ ก่อนจะขยายตัวสู่ตลาดสากล
             ๒.๖ ข้อจำกัดด้านการลงทุนของต่างประเทศ ระบบการเมืองไร้เสถียรภาพและความยากจน กลายเป็นสภาวะ “หลังชนฝา” กระตุ้นให้สาธารณรัฐเกาหลีมุ่งมั่นที่จะยกระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการลงทุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเองและลดระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ส่งผลให้พื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนามีความแข็งแรงและเป็นไปตามความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง จนปัจจุบันถือได้ว่าสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีประเทศหนึ่งของโลก และหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในระยะเวลา ๕๐ ปี
             ๒.๗ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การต่อยอดการพัฒนา หรือ กระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกจังหวะเวลานั้น มีความสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาพจะเห็นได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะที่ ๑ (First S-Curve) สภาพเศรษฐกิจในระยะแรกได้รับการกระตุ้นจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ขยายตัวสูงขึ้น

ระยะหนึ่งและกำลังเริ่มถดถอย แต่ในช่วงปีค.ศ. ๒๐๐๒ สาธารณรัฐเกาหลีได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกร่วมกับญี่ปุ่น ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้งในระยะที่ ๒ (Second S-Curve) และก่อนที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจถดถอย ในระยะที่ ๓รัฐบาลเกาหลีจึงได้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งด้วยการประชุม G20 ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ จะเห็นได้ว่า สาธารณรัฐเกาหลีมีการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกจังหวะเวลาและต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ 

๓. วางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านการศึกษาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
             จุดเริ่มต้นการพัฒนาประเทศของไทยและเกาหลีมีความคล้ายคลึงกันในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งผลกระทบสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในหลากหลายด้านของประเทศไทย
             ๓.๑ ในประมาณช่วงปี ค.ศ. 1960 ประเทศไทยโดยการนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้มีดำริให้จัดตั้ง ๓ สภาที่มีความสำคัญยิ่งต่อการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ เป็นหน่วยงานหลักสำหรับการวางแผนการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม วิจัย และการศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
             ๓.๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการวางทิศทางนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามเจตนารมณ์เมื่อครั้งก่อตั้งสำนักงานฯ ในการทำหน้าที่ “กำหนดทิศทางของการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ” ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว กว่า ๕๘ ปีที่ สกศ. มุ่งมั่งตั้งใจกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป
             ๓.๓ อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึง “การศึกษาไทย” เสียงสะท้อนกลับมากลับเป็นด้านลบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ “คุณภาพ” ของผู้เรียนที่ระบบการศึกษาไทยไม่สามารถพัฒนาให้แข่งขันได้ในเวทีสากล สาเหตุสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยสามารถจำแนกได้ ๒ ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายนอก อาทิ เสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลต่อความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย และปัจจัยภายใน ตั้งแต่โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ การบริหารจัดการครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ระบบการวัดและประเมินผล ตลอดจนระบบการเงินและทรัพยากรทางการศึกษา
             ๓.๔ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษา หากพิจารณาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๑๘ ปี กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีมาแล้วถึง ๒๐ คน เฉลี่ยแล้วมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละคน อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องของนโยบายนั้น ได้รับการพิจารณาและวางแผนในการแก้ไข โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาประเทศและการศึกษาของประเทศ เพื่อลดการแทรกแซงจากระบบการเมืองและทำให้นโยบายการพัฒนามีความต่อเนื่อง ยังประโยชน์ให้บรรลุเป้าหมายของแผนและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
             ๓.๔ ปัจจัยภายในของระบบการศึกษาไทย อาทิ โครงสร้างกระทรวง การบริหารจัดการครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ระบบวัดและประเมินผล เป็นต้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่กั้นขวางการพัฒนาการศึกษาและส่งผลอย่างชัดเจนต่อระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการตระหนักดีต่อปัญหาดังกล่าว การพัฒนาการศึกษาไทยภายใต้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ จึงมุ่งเน้นแก้ปัญหาและเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยผ่าน ๖ ยุทธศาสตร์ เพื่อให้ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑”
             ๓.๕ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๘ โดย สกศ. จะเป็นยุทธศาสตร์การศึกษาระยะยาว ๒๐ ปี ที่จะเป็นทิศทางสำหรับการ “ซ่อม-เสริม-สร้าง” การศึกษาไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป ดำเนินการผ่าน ๖ ยุทธศาสตร์ที่จะเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้านที่เป็นหัวใจของการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตร

 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในทักษะที่จำเป็น (3Rs x 8Cs) การบริหารจัดการการผลิต ใช้ประโยชน์และพัฒนาครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่สอดคล้องต่อความต้องการและมีการพัฒนาคุณภาพในวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ประเทศไทย ๔.๐ และแข่งขันได้ในระดับนานาชาติและที่สำคัญ คือ ไม่ละเลยการพัฒนาคุณภาพคนทุกช่วงวัยและสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ยังครอบคลุมถึงการยกระดับและพัฒนา “ระบบ” การศึกษาของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบันและเป็นเอกภาพเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและร่วมจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษาที่เอื้อให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษาให้เป็นไปตามทิศทางของการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
             ๓.๖ การจะขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมาย

ที่กำหนดไว้ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ สกศ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือดังกล่าว จึงได้ส่งเสริมให้องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ การจัดทำและพิจารณาแผน ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ เพื่อให้แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ เป็นแผนการศึกษาของทุกคน

๔. บทสรุป
            “คนไทยได้รับโอกาสการพัฒนาเต็มตามศักยภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม” เป็นเป้าประสงค์สำคัญต่อการสนับสนุนและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ให้ประเทศก้าวหน้าไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ เป็นการวางแผนและกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาไทยในระยะยาว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม สกศ. มุ่งมั่นและตั้งใจอย่างยิ่งว่า การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้จะเป็นความหวังสำคัญในการ “ซ่อม-เสริม-สร้าง” ให้การศึกษาไทยมีคุณภาพและเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน สังคม และประเทศชาติต่อไป

๕.รายการอ้างอิง
            ๑. เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง STI Policy and Development: Korean Experience
            ๒. เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง Branding of South Korea & K-Wave: Implications to Thailand 4.0
            ๓. ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์. เอกสารรวบรวม “แนวคิดเกี่ยวกับประเทศไทย ๔.๐”.
            ๔. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๔.
            ๕. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ด้านการจัดการศึกษา “ประเทศไทย ๔.๐”.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด