กอปศ. นัด ๒๕ เตรียมส่งร่างพรบ.กองทุนต่อนายกรัฐมนตรี

image

 

 

วันนี้ (๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ ๒๕ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ... กรอบแนวคิดการปฏิรูปอุดมศึกษา และข้อคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการร่วมปรึกษาหารือให้การปฏิรูปและการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างระเบียบต่างๆ ของกองทุนนั้น เช่น ร่วมกันคิดรายละเอียดว่าใครคือผู้รับทุน เช่น เด็ก เยาวชน  ผู้ด้อยโอกาส  ครู / อาจารย์ และจะวิธีการที่จะใช้งบประมาณอย่างไร ซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนนี้ ตั้งเป้าว่าจะเสร็จภายในเดือนมีนาคม อย่างช้าภายในเดือน เมษายนนี้

ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา กล่าวโดยสรุปว่า การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ...  และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  ที่ประชุมยังเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำกฎหมายระดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้  สำหรับกองทุนนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่มีอยู่แต่จะไปอุดช่องว่างต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาค  นอกจากนี้ในเรื่องของอุดมศึกษาไทยยังพบว่ามีกับดักที่ซ่อนอยู่ใต้ความเจริญของอุดมศึกษาไทยนั้น คือ การเน้นปริมาณจนลืมคุณภาพ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีความสมดุล บทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหารธรรมาภิบาลบกพร่อง งานวิจัยไม่เป็นประโยชน์จริง ยังขาดความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องมีการปรับอุดมศึกษา ต้องพิจารณาให้มีความสมดุลระหว่างการให้อิสระกับการกำกับ  ต่อไปมหาวิทยาลัยต้องเป็นมหาวิทยาลัย ๔.๐ มีส่วนรับผิดชอบบัณฑิตที่ผลิต และมหาวิทยาลัยต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะมีอิสระจัดการสอนให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ของตน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน กล่าวโดยสรุปว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ... มี ๕ หมวด ๑ บทเฉพาะกาล รวมทั้งหมด ๔๕ มาตรา ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ มาตรา ๑๓ ได้ระบุว่า เงินกองทุนให้ใช้จ่ายได้เพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้  ๑) ดำเนินการให้เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้เหมาะสมกับวัย ๒) ให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนเงิน และค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพยแ์ละผู้ด้อยโอกาสจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๓) สนับสนุนให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตได้โดยพึ่งพาตนเอง ๔) เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาเด็ก เยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้เต็มศักยภาพ ๕) จัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลและระบบอื่นใดที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๖) พัฒนานวัตกรรมอันเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการตาม (๑) (๒) (๓) (๔)(๕) และ (๗) กิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ ๖) ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด  ๘) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการของกองทุนในแต่ละปีตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมในอันที่จะร่วมกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมใดมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการกิจการตามวรรคหนึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และกองทุนได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้กองทุนมีอำนาจจัดสรรเงินของกองทุน เป็นเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งร่วมกับกองทุนได้ ลำดับความสำคัญและขอบเขตการใช้จ่ายเงินกองทุนผู้รับทุน ตลอดจนวงเงิน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุน และการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การใช้จ่ายเงินของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนตามวรรคสองไว้ด้วย เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้้อยโอกาส ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครู และอาจารย์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เงินที่ผู้รับทุนได้รับมาจากกองทุนตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๖) ไม่ถือเป็นเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกองทุนในขั้นต่อไป คือ ประสานการจัดส่งร่าง พรบ. พร้อมทั้งเอกสารประกอบการเสนอร่างกฎหมายให้แก่นายกรัฐมนตรี สนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมให้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดตั้งคณะทำงานของอนุกรรมการกองทุนเพื่อยกร่างระเบียบตามมาตรา ๑๓ และสนับสนุนการดำเนินงานของ กอปศ. ตามมาตรา ๔๒ ของร่างพรบ.กองทุน 

 

ในที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นให้มีการจำกัดคำนิยามต่างๆ เช่น เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้้อยโอกาส ให้ชัดเจน เพื่อครอบคลุม ตรงตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งกองทุนฯ ขึ้นมา ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.กองทุน และเตรียมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และเห็นชอบในหลักการจัดตั้งคณะทำงานของอนุกรรมการกองทุนเพื่อยกร่างระเบียบตามมาตรา ๑๓ ต่อไป

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด