สกศ.เดินหน้าพัฒนามาตรฐานการศึกษารองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

image


         วันนี้ (๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๐) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมวิชาการ เรื่อง เรียนรู้พระบรมราโชบายด้านการศึกษาและการพัฒนาคน ตาม (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีเป็นประธานการประชุม ดร. ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวต้อนรับและนำเสนอ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่  และรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายเรื่อง “การศึกษาและมาตรฐานการศึกษา : ข้อคิดจากมุมมองนอกกรอบ”  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลส กทม.

 
 

 

         ศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย กล่าวโดยสรุปว่า สิ่งที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง มี ๔ ประการ คือ กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ดิจิตอลเทคโนโลยี (Digitalization) การตัดขั้นตอนการมีคนกลาง และการก่อการร้าย  สิ่งเหล่านี้จะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติจึงมีความสำคัญ  เมื่อสิบปีก่อน เป้าหมาย คือ ให้เป็นคนเก่งดีมีสุข แต่ปัจจุบันต้องมีศักยภาพอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาตามโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความรู้ทางเทคโนโลยี  ความสามารถทางภาษา ความคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมอัตลักษณ์ของความเป็นคนไทย คือ สร้างคนไทยในอนาคตให้รู้เท่าทันต่างประเทศ แต่ต้องไม่ลืมความเป็นไทย  ซึ่งแนวความคิดนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ให้ความสำคัญไว้เช่นกัน ครั้นเมื่อส่งนักเรียนไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ  พระราชดำรัสไว้ว่า “เพราะฉะนั้นเราจึงได้ตักเตือนนักเรียนเหล่านั้นว่าให้พึงนึกในใจว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง”  นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องความรู้กับคุณธรรม ที่ต้องควบคู่กันไป และต้องสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้เด็กทุกพื้นที่ได้เรียนรู้ ลดช่องว่างการศึกษา  เมื่อมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่เสร็จก็สามารถใช้เป็นหลักตั้งต้นในวงจรการศึกษาทั้งประเทศ ซึ่งมี  4 ขั้นตอน คือ ๑) การกำหนดเป้าหมายโดยรวมของระบบการศึกษา ๒) นำเป้าหมายสู่การสร้างหลักสูตรและกำหนดมาตรฐานการจัดการศึกษา ๓) นำสู่การจัดการศึกษา โดยออกแบบการเรียนการสอนตามมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และ ๔) การประเมินผล  การเรียนตามหลักสูตรและมาตรฐาน จากหน่วยงานประเมินผลการศึกษา  

 
 

 

         ความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติจากประวัติศาสตร์นั้น ประเทศไทยเริ่มปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงวางรากฐานการศึกษา ทรงนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาวางรากฐานในรุ่นแรก ต่อมาส่งคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อมารับช่วงต่อ  หลังจากนั้นสร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรได้เองในประเทศ  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาทรงเน้นเรื่องการอบรมที่มิได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านวิชาการแต่ต้องเน้นเรื่องศีลธรรมจรรยา ความสำนึกรับผิดชอบด้วย  นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนทุกคนไม่เฉพาะแต่ในวัยเรียน แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต   และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐  ทรงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาโดยต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน ๔ ด้าน คือ  ๑) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ๒) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่งคง มีคุณธรรม ๓) มีงานทำ มีอาชีพ และ ๔) เป็นพลเมืองดี 

 
 
 
 
 
 
 

           ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคน เก่ง ดี มีความสุข และการใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางจัดการศึกษา  แต่ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้(ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ โดยใช้แนวทางจากแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ๒๐ ปี ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ๔.๐ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ กระแสรับสั่งทางด้านการศึกษาและการพัฒนาคนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตลอดจนได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ๕ ภูมิภาคของประเทศไทย  มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่เน้นผลลัพธ์ผู้เรียนเป็นหลักและมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี มีทักษะ พึ่งพาตนเองได้  เป็นพลเมืองที่ดี และมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย ประกอบด้วย ๔ มาตรฐาน คือ  มาตรฐานที่ ๑ ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มาตรฐานที่ ๒ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม มาตรฐานที่ ๓ ผู้มีทักษะทางสังคมและการดำรงชีวิต มาตรฐานที่ ๔ ผู้มีความเป็นพลเมือง

                   

 
 
 
 
 
 

             รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นำเสนอการศึกษาและมาตรฐานการศึกษา: ข้อคิดจากมุมมองนอกกรอบ ในประเด็น ๑) มาตรฐานการศึกษา ๒) มาตรฐานการศึกษาไทยฉบับใหม่ และ ๓) ข้อคิด กล่าวโดยสรุป   มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่นี้ มีความสอดคล้องกับ ห้าเสาหลักทางการศึกษาของ UNESCO สำหรับศตรวรรษที่ ๒๑ คือ  ๑)  Learning to Know ๒)  Learning to Do ๓)  Learning to Live Together, to Live with Others ๔)  Learning to Be  และ ๕) Learning to Transform Oneself and Society  และเสนอข้อคิดว่า ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของ 3R และ 8C โดยควรเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็นเป็นเรื่องแรก นอกจากนี้ควรเน้นให้เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น มีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน ปลูกฝังเรื่องความเป็นพลเมือง โดยผ่านหลักสูตรลูกเสือเนตรนารี เพื่อให้รู้จักการยอมรับและเคารพความแตกต่าง อีกทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์  การรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีความพอเพียง และควรมีการสร้างแรงจูงใจ  

             นอกจากนี้ให้มุมมองว่า มีบางประเทศที่มีการนำเทคโนโลยี EDTECH มาใช้ในการประเมินความรู้ของผู้เรียน เมื่อได้ผลประเมินความรู้ จะทราบว่าเด็กอ่อนด้านใด  ครูจะช่วยพัฒนาด้านที่เด็กไม่ถนัด ข้อสอบของเด็กแต่ละคนจะออกตามความสามารถของเด็กคนนั้นๆ  ไม่ใช่ข้อสอบที่เหมือนกันทุกคนแบบเดิม


 
 


ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด