สกศ. จัดประชุมการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาผ่านตัวผู้เรียน

image

 

           วันนี้ (๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐) รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษา พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์) ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 



           ที่ประชุมมีการนำเสนอผลการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาผ่านผู้เรียน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ นำเสนอ ประเด็นสำคัญของการศึกษา เพื่อต้องการให้เกิดแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้อยู่บนความสอดคล้องเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๔ ที่มุ่งเน้นตัวผู้เรียนเป็นหลัก ตอบสนองความต้องการของตัวบุคคล และยุทธศาสตร์แผนการศึกษาแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา โดยการศึกษาพิจารณาจากประสบการณ์รูปแบบการจัดสรรงบประมาณหลากหลายประเทศ อาทิ ประเทศชิลี ประเทศโคลัมเบีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและเปรียบเทียบรูปแบบการจัดสรรงบประมาณทางการจัดการศึกษา รวมทั้งการทบทวนการจัดสรรงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย และนำผลการศึกษามาปรับปรุงเพื่อการจัดสรรงบประมาณให้เกิดการใช้ทรัพยากรและทุนที่เพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดสรรงบประมาณผ่านด้านอุปสงค์ (ผู้เรียน) (Demand Side)


 

 
 
 
 



           จากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อจำกัดของรูปแบบการจัดสรรงบประมาณในหลากหลายมุมมอง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงบประมาณ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปผลการอภิปรายและข้อเสนอแนะตอนหนึ่งว่า การจัดสรรงบประมาณผ่านด้านอุปสงค์ (ผู้เรียน) (Demand Side)  มีลักษณะสำคัญคือ การสร้างระบบคุณภาพโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพสามารถปิดตัว ล้มเลิก หรือควบรวมกิจการได้ สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณในช่วงระยะเวลาที่เปลี่ยนผ่านระหว่างระบบการจัดสรรงบประมาณผ่านด้านอุปทาน (สถานศึกษา) (Supply Side) สู่ระบบการจัดสรรงบประมาณผ่านด้านอุปสงค์ (ผู้เรียน) (Demand Side) อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามบริบทของแต่ละพื้นที่

 
 
 



           นอกจากนี้ ประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุด คือ การใช้คูปองการศึกษา (Educational Vouchers) เป็นการสร้างเครื่องมือกระตุ้นให้โรงเรียนเกิดการแข่งขัน โดยภาครัฐต้องออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่  โดยต้องคำนึงถึงพื้นที่แต่ละบริบทว่า ควรจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรที่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ชายขอบมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด