OEC Forum ครั้งที่ ๑๘ “บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐”

image

         วันนี้ (๑๘ พ.ค. ๒๕๖๐) ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดสภาการศึกษาเสวนา (OEC  Forum) ครั้งที่ ๑๘ เรื่อง “บทบาทการศึกษาเอกชนนอกระบบกับการพัฒนาประเทศไทย ๔.๐”  ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี  โดยมีนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ

 
   


         ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า “ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดสภาการศึกษาเสวนา (OEC  Forum) ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ  โดยมีทำเนียมปฏิบัติ คือ เน้นบรรยากาศทางวิชาการ ไม่มีเรื่องของการเมือง พูดเสนออย่างสร้างสรรค์  ไม่เน้นพูดถึงปัญหา แต่เน้นเสนอวิธีแก้  และทุกครั้งจะมีบทสรุปเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งมีนโยบายหลายเรื่องที่ตกผนึกในเวทีนี้และนำสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย  การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งข้อเสนอจากเวทีนี้ได้นำสู่การปรับเปลี่ยน พัฒนาเชิงนโยบายและเริ่มนำสู่การปฏิบัติ  ปัจจุบัน รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ ๔.๐  พ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงต้องติดเทอร์โบให้ประเทศ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า S – Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร  เกษตรกรรมแบบใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร  การดูแลสุขภาพอนามัย  อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์  ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น  ซึ่งในแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เน้นให้การผลิตคนตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน กำหนดให้สถานศึกษามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาในระบบปกติต้องใช้ระยะเวลา และมีกระบวนการมาก ต่างจากภาคเอกชนที่มีความคล่องตัวและปรับตัวได้มากกว่าภาคราชการ จึงสามาถช่วยพัฒนาการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว OEC Forum ในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังความคิดความเห็นจากภาคเอกชน รวมถึงแนวทางที่จะช่วยกันพัฒนาการศึกษาต่อไป


         นายพะโยม  ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวโดยสรุปว่า การศึกษาเอกชน มี ๒ ระบบ คือ  ๑. โรงเรียนในระบบ คือ ๑) สามัญศึกษาและ ๒) นานาชาติ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีมากที่สุดในเอเชีย สามารถเป็น HUB ทางการศึกษาในภูมิภาคได้ และ ๒. โรงเรียนนอกระบบ แบ่งเป็น ๗ กลุ่ม คือ ๑) สอนศาสนา ๒) ศิลปะและกีฬา ๓) วิชาชีพ  ๔) กวดวิชา ๕) สร้างเสริมทักษะชีวิต ๖) สถาบันศึกษาปอเนาะ และ๗) ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)  สำหรับหลักสูตรโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน  คือ อาหารไทย มวยไทย การบิน การบริบาล นวดแผนไทยและสปา  โรงแรมและการท่องเที่ยว พาณิชย์นาวี อัญมณี และสอนขับรถยนต์  การศึกษานอกระบบนี้มีจุดเด่น คือ สามารถปรับตัว เคลื่อนตัวได้เร็ว ตอบสนองความต้องการประเทศได้  สามารถทำเป็นอาชีพหรือเรียนเพื่อเสริมทักษะได้  จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มิติทางการศึกษามีความครอบคลุมและรอบด้าน ซึ่ง สช. มี ทิศทางการดำเนินงานดังนี้ ส่งเสริมการจัดตั้งการศึกษาเอกชนให้มากขึ้น ต่อยอดให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนาหลักสูตรที่ตรงความต้องการของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งยังได้วางแนวทางที่จะดำเนินการจัดการศูนย์กลางการศึกษา หรือ Education Hub ในสายอาชีพไว้ โดยจะพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศสถานศึกษานอกระบบ โดยจัดทำ CLUSTER การศึกษานอกระบบ จะเสริมจุดแข็งของไทย หรือ  education hub ในสายวิชาชีพ  ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิของผู้เรียนโรงเรียนนอกระบบ และจะกำหนดแนวทางและที่หลักเกณฑ์ที่ยืดหยุ่ดเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศ


         นายพรชัย  พิศาลสิษฐ์กุล  นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวโดยสรุปว่า  การศึกษานอกระบบสามารถใช้เลี้ยงครอบครัว เป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม อาชีพอิสระได้ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับคนเราตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร  นวด ความงามระดับโลก ซึ่งตอนนี้ล้วนมีในประเทศไทยแต่ยังขาดโอกาส และยังต้องการการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นเรื่องการพัฒนาผู้บริหารและครู การเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษเฉพาะสาขาอาชีพ เช่น  ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอาหาร การนวด ฯลฯ ถ้าผู้เรียนมีทักษะทางภาษาก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้  รัฐควรส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรใหม่ที่ทันความต้องการของประเทศและต่างประเทศ บางครั้งการพิจารณาใช้เวลานาน เมื่อผ่านบางหลักสูตรก็ไม่เป็นที่นิยมแล้ว  นอกจากนี้ควรมีการเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน นำมาจัดร่วมกัน  เพื่อลดการศึกษาที่ซ้ำซ้อน  ทั้งนี้ ในปัจุจบันมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะนี้จึงมีแนวคิดที่จะทำโรงเรียนชราบาลเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง และสามารถดึงศักยภาพผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาอีกด้วย 


         นายกงกฤช หิรัฐกิจ ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหารโรงเรียนการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ  กล่าวโดยสรุปว่า การศึกษานอกระบบถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ ๔.๐ เพราะการศึกษานอกระบบดูแลคนตั้งแต่จบการศึกษาในระบบจนวัยชรา เป็นการศึกษาที่ใกล้ชิดผู้คน และสามารถยกระดับความสามารถของแรงงานได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งการศึกษาในระบบไม่สามารถปรับได้ทันท่วงที จุดเด่นของการศึกษานอกระบบ คือ มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว คล่องตัว ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค  ปัจจุบันเป็นยุคที่ปลาว่ายน้ำเร็วกินปลาว่ายน้ำช้า ไม่ใช่ปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็ก การจะไปสู่ไทยแลนด์ ๔.๐ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยว่ายน้ำได้เร็ว จะผลิตการศึกษาไทยอย่างไร การศึกษานอกระบบต้องมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีกระบวนการเรียนรู้ มีการวัดผล ติดตามผล ต้องคล่องตัว  แม่นยำ ทันสมัย มีอัตลักษณ์ไม่ใช่แค่ทักษะ  ซึ่งภาครัฐควรเป็นผู้ชี้นำทิศทาง แต่ไม่ต้องลงรายละเอียด วิธีการเป็นสิ่งที่ผู้จัดการศึกษานอกระบบเป็นผู้คิด และให้ควรให้การส่งเสริมมากกว่าควบคุม


นางสุทธิ์สมร  แสงสุรศักดิ์ชัย ผู้บริหารโรงเรียนสอนขับรถยนต์ ID DRIVER จังหวัดขอนแก่น กล่าวโดยสรุปว่า เห็นความสำคัญของการศึกษาจึงได้มาทำโรงเรียน โดยปัจจุบันได้จัดทำ คู่มือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการสอน และมีความร่วมมือกับสายอาชีพเดียวกัน สามารถสอนได้ตั้งรถยนต์ รถขน รถหัวราก ฯลฯ เพื่อรองรับโลจิสติกส์  ปัจจุบันรัฐส่งเสริมให้ร่วมมือกับต่างประเทศ จึงมีแนวคิดที่นอกจากจะสนับสนุนให้คนต่างประเทศมาเรียนที่ประเทศไทยแล้ว ต้องการไปศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีจากต่างประเทศด้วยเพื่อนำมาพัฒนาคนไทย จึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องช่องทางหรือให้รัฐมีช่องทางที่ราชการรับรองเพื่อประสานสิ่งเหล่านี้ 

 
   


ท่านสามารถดูภาพบรรยาการได้ที่


image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด