สกศ. จัดประชุมสร้างความเข้าใจการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีตัวอย่างโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน

image

 

         วันที่ ๒ – ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสร้างความเข้าใจการเข้าร่วมโครงการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : กรณีตัวอย่างโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน โดย มี นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้เป็นประธานเปิดการประชุม ณ ห้องบุษบงกช โรงแรมรอยัลริเวอร์ กทม.

 

         ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ดร. ผดุงชัย ภู่พัฒน์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาให้ความรู้เรื่องตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน และชี้แจงรายละเอียดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นางวิรัตน์ ขวัญยืน อดีตศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑ มาให้ความรู้เรื่อง การวิเคราะห์ความสำเร็จตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ และจะมีการแบ่งโรงเรียนเป็น ๔ กลุ่มย่อยตามภาค คือ ภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานประเมินตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้

         นางเกื้อกูล ชั่งใจ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวโดยสรุปว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้ สกศ. กำลังจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ ที่เป็นมาตรฐานใหญ่ และจากมาตรฐานนี้จะแตกย่อยมาตามระดับการศึกษา สถานศึกษาต้องไปทำมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับพื้นฐาน ผู้เรียนในโรงเรียนของตนและเพื่อใช้ประกันคุณภาพ การประเมินภายใน ภายนอก ขณะนี้ได้มีการประกาศกฎกระทรวงเรื่องการประกันคุณภาพ ที่เอื้อให้สถานศึกษาสามารถจัดทำมาตรฐานของตนเอง มีการประเมินประกันคุณภาพของตนเอง หากสถานศึกษามีการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ก็จะสามารถรายงานผลการประกันคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น หรือทำให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้น ต่อไปสถานศึกษาจะสามารถรายงานได้ตามตัวชี้วัดตามที่สถานศึกษากำหนด ดังนั้นโครงการนี้จะมีส่วนช่วยให้สถานศึกษามีเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพการศึกษา สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพตามบริบทของสถานศึกษา และยังเป็นแนวทางให้โรงเรียนพัฒนาการบริหาร การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากโรงเรียนได้ทำตามตัวชี้วัดเหล่านี้ที่มีการแนะแนวทางไว้ชัดเจน โรงเรียนน่าจะมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการวิจัยเมื่อปีที่แล้วแต่เนื่องจากบริบทโรงเรียนต่างกัน สกศ. จึงทดลองโรงเรียนนำร่องจำนวน ๒๑ โรง โดยนำตัวชี้วัดเหล่านี้มาใช้กับโรงเรียนที่จัดการศึกษาในบริบทต่างกัน คือ โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนต่างสังกัด โรงเรียนชายขอบ เพื่อได้รับทราบว่าตัวชี้วัดต่างๆ เหมาะสมหรือไม่ ควรปรับสิ่งใด เมื่อได้ผลการวิจัยแล้ว จะได้นำมาพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อเผยแพร่ให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปใช้พัฒนาผู้เรียนต่อไป

         นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเรียนรู้ สกศ. กล่าวโดยสรุปว่า โครงการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการใช้คู่มือการวัดและประเมินผลตามตัวชี้วัดฯ ในบริบที่แตกต่างกัน ในการประชุมครั้งนี้จะแจ้งให้โรงเรียนทราบถึงความเป็นมาของโครงการและแนวคิดในการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทั้ง ๒๑ โรง จะได้ประเมินตนเอง และทำความเข้าใจตัวชี้วัดต่างๆ จากวิทยากร ก่อนนำไปทดลองปฏิบัติ หลังจากการประชุมแต่ละโรงเรียนจะนำเครื่องมือวัดและประเมินตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพไปทดลองใช้จริง ประมาณ ๓ – ๔ เดือน สกศ. จะลงพื้นที่ไปติดตามผลในแต่ละโรงเรียน รวมถึงแต่ละโรงเรียนจะจัดทำรายงานวิเคราะห์การใช้ผลการชี้วัดว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด มีปัญหาหรือต้องปรับปรุงตัวชี้วัดใดบ้าง หลังจากนั้น สกศ. จะจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อให้ทุกโรงเรียนนำร่องได้มาร่วมวิพากษ์ให้ข้อเสนอแนะตัวชี้วัดร่วมกัน และนำสิ่งที่ได้จากผลสรุปการประชุมไปจัดทำรายงานเพื่อใช้ในการปรับปรุงตัวชี้วัดให้เหมาะสมต่อไป

         สำหรับเครื่องมือวัดและประเมินตามตัวชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้นี้มีทั้งสำหรับผู้อำนวยการและครู สำหรับผู้บริหารจะเน้นสมรรถนะการบริหารจัดการเรียนรู้ของผู้บริหารสถานศึกษา ในด้านสมรรถนะด้านความรู้ สมรรถนะด้านทักษะ และคุณลักษณะของผู้บริหาร ส่วนครู จะเน้นสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู ในด้านด้านความรู้ สมรรถนะด้านทักษะ และคุณลักษณะของครู

-----------------------------------

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด