สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของไทย

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของไทย วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้ดำเนินรายการ :     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา สนทนาในประเด็น “ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของไทย” ก่อนอื่นขอให้ท่านอธิบายคำกำจัดความของคำว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และเมื่อวันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะอนุกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประเทศไทย ขอเรียนถามถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการครั้งนี้
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework หรือ NQF) คือ ความต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงของระดับคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานอาชีพซึ่งอยู่ในโลกการทำงานเข้าด้วยกัน ส่วนกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework หรือ AQRF) ซึ่งประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วมดำเนินการจัดทำเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว และได้นำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และแรงงานของอาเซียนเพื่อให้การรับรอง ดังนั้น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยจะดำเนินการเทียบเคียงกับอาเซียนโดยใช้กรอบคุณวุฒิของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกรอบคุณวุฒิมี ๘ ระดับ กรอบคุณวุฒิระดับ ๔ – ๕ เป็นกรอบคุณวุฒิระดับปริญญาตรีเพื่อเทียบกับระบบคุณวุฒิกลางที่จะนำไปเทียบเคียงกับอาเซียน ขณะนี้กำลังดำเนินการเทียบเคียง โดยในครั้งแรกที่ได้เข้าประชุมเมื่อกรอบคุณวุฒิดำเนินการเสร็จแล้ว จะรายงานความก้าวหน้าเรื่องกรอบคุณวุฒิแห่งชาติให้ที่ประชุมได้รับทราบว่าประเทศไทยอยู่จุดไหน อย่างไร นอกจากนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเทียบเคียงให้แต่ละประเทศที่จะเข้าร่วมการเทียบเคียงได้รับทราบ ขณะนี้มี ๔ ประเทศที่แสดงเจตจำนงในการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แนวโน้มในอนาคตถ้าการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิเรียบร้อยแล้ว จะมีการเลื่อนไหลแรงงาน การเลื่อนไหลนักศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการที่นักศึกษา หรือแรงงานแต่ละประเทศ จะได้มีการเทียบเคียงอัตโนมัติในประเทศนั้น ๆ โดยไม่ต้องกลับมาเทียบเคียงในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
       
      การประชุมคณะอนุกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประเทศไทย ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ เมื่อวันจันทร์ที่ ๖  พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เป็นการเตรียมการ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้จัดทำเกณฑ์ในการเทียบเคียง ๓ เกณฑ์ เพื่อนำเสนอ ที่การประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เกณฑ์ในการเทียบเคียงมี ๓ เกณฑ์ ได้แก่ ๑) โครงสร้างของระบบการศึกษาและการฝึกอบรมในประเทศไทย เพื่อแต่ละประเทศจะได้รู้ว่าโครงสร้างที่ไม่เหมือนกันเป็นอย่างไร ๒) บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้งด้านการศึกษา และด้านอาชีพ และ ๓) การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงคุณวุฒิว่า มีการทำอะไรไปบ้าง อย่างไร กลไกในการดำเนินการอย่างไร ในส่วนของประเทศไทย มีคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิโดยมี พลอากาศเอกประจิน    จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นฝ่ายเลขานุการ ในการดำเนินงานมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศไทย    มี นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่เป็นประธาน 
       
ผู้ดำเนินรายการ :     การเทียบเคียง หมายถึง การเทียบเคียงในระดับคุณวุฒิการศึกษาเทียบกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ เช่น ถ้าคนจบ ปวช. ในประเทศไทย จะไปเทียบเท่ากับคนที่จบในระดับใดในประเทศอื่น ใช่หรือไม่ อย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :      ใช่ค่ะ ระดับของประเทศไทย เป็นระดับเดียวกับอาเซียน คือมี ๘ ระดับ แต่มาเลเซียมีระดับไม่เท่าเทียมกับประเทศไทย เมื่อเทียบกับระบบคุณวุฒิของอาเซียน เช่น มาเลเซีย อยู่ระดับ ๖ ประเทศไทย อยู่ระดับ ๕   คนของประเทศไทยที่จะเลื่อนไหลไปมาเลเซีย จะไปเทียบตามระดับที่ได้เทียบไว้แล้ว ซึ่งจะใช้กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนเป็นตัวเทียบเคียง เมื่อระบบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะนำไปเชื่อมโยงกับอัตราค่าจ้างด้วย
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ขณะนี้มีประเทศที่ตอบรับมา ๔ ประเทศ ประเทศที่เหลือในอาเซียนติดขัดในเรื่องใด
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     ประเทศสิงคโปร์อาจดำเนินการไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เนื่องจากไม่ต้องการการเทียบเคียง ในส่วนของ ๕ ประเทศที่เหลือ กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม สร้างความเข้มแข็ง ในการพัฒนาระบบคุณวุฒิในประเทศให้สมบูรณ์ บางประเทศยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของการดำเนินการ เป็นต้น สำหรับในส่วนประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์แบบ อยู่ในช่วงการสร้างความเข้มแข็ง ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับนอกจากการเลื่อนไหลของแรงงานของนักศึกษา เช่น การเทียบเคียงของ EU ที่นักศึกษามีการเลื่อนไหลในเรื่องของค่าเรียน ในกลุ่ม EU จะมีอัตราค่าเรียนเดียวกัน คนจากภายนอกอัตราค่าเรียนจะสูงกว่า    เป็นต้น ที่สำคัญของระบบการเทียบเคียงคือการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ การเทียบเคียงเป็นการกระตุ้นให้ประเทศไทยเร่งดำเนินการที่จะพัฒนากลไกภายในประเทศ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลเรื่องระบบคุณวุฒิของประเทศไทย ฐานข้อมูลรายบุคคลที่คนจะต้องเข้าไปทำ Profile ของแต่ละคนเพื่อลงทะเบียนว่าแต่ละคนขาดทักษะใดบ้าง ต้องไปเรียนเพิ่มเติมที่ไหน อย่างไร จะไปเทียบโอนหน่วยกิตได้อย่างไร จะเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะต้องพัฒนาฐานข้อมูลให้สมบูรณ์แบบ การพัฒนาระบบเทียบโอนระหว่างการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ การประกันคุณภาพ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีความเข้มแข็งภายในประเทศ การเทียบเคียงก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การเทียบเคียงจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นในการเร่งรัดดำเนินการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ในการเทียบเคียงหรือจัดระดับ ประเทศไทยมี ๘ ระดับ บางประเทศอาจมีไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร และจะคนไทยจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานอย่างไร
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา:     การเทียบเคียง ๘ ระดับ จะเทียบเคียงตามองค์ประกอบของทักษะความรู้ ซึ่งระดับ ๑ จะง่าย ระดับอื่น ๆ จะมีความยาก ละเอียด และซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ ถ้ากำลังแรงงานของประเทศไทย อยู่ระดับ ๔ เมื่อไปเทียบกับอาเซียนได้ระดับ ๔ เช่นกัน ขณะที่ประแทศไทยปรับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็น ๘ ระดับ ได้ใช้คำอธิบายในองค์ประกอบของคุณวุฒิของแต่ละระดับเข้ามาอยู่ในคุณวุฒิของประเทศไทย ดังนั้น ทักษะ สมรรถนะที่ต้องการ จะเป็นทักษะ สมรรถนะที่ใกล้เคียงกับอาเซียน
       
      สิ่งสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ภาคของอาชีพ ควรทำมาตรฐานอาชีพที่จะต้องนำเข้ามาสู่ระบบของการสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะในประเทศไทย ที่ผ่านมาคงได้ยินว่า การผลิตกำลังคนของประเทศไทยไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ผลิตมาด้านหนึ่ง แต่ความต้องการของสถานประกอบการเป็นอีกด้านหนึ่ง ถ้านำเรื่องมาตรฐานอาชีพไปกำหนดหลักสูตร เช่น อาชีวศึกษา หลักสูตรใหม่ปรับให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะทั้งหมด ส่วนหลักสูตรเก่า กำลังจะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้ไม่อิงกับระบบคุณวุฒิการศึกษา ที่เน้นเรื่องปริญญาอย่างเดียว แต่จะเน้นในเรื่องสมรรถนะ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนว่า ผู้เรียนจบในระดับนี้ มีทักษะ สมรรถนะ ความรู้ในเรื่องอะไร เป็นต้น ดังนั้น การผลิตกำลังคนจะเป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     ในอนาคตจะมีการป้องกันในเรื่องของสมองไหล หรือไม่
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา:     ประเด็นนี้มีการคิดกันว่า ถ้ามีการเทียบโอนหรือเทียบเคียงแล้ว จะมีปัญหาในเรื่องสมองไหล ตามความเป็นจริงมีอยู่แล้วในขณะนี้  แต่รัฐบาลกำลังดึงศักยภาพของกลุ่มคนสมองไหลให้กลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ประเด็นไทยแลนด์ ๔.๐ กลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษ ที่เป็นกลุ่มสมองไหลไปต่างประเทศ รัฐบาลพยายามดึงเข้ามาโดยมีมาตรการจูงใจต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในเรื่องการผลิตกำลังคน ในเรื่อง S-Curve โดยได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของวิทยุการบิน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งอาชีวศึกษาได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และจะดำเนินการขับเคลื่อนในอีก ๗ สาขา ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการที่จะดูแลการขับเคลื่อนในส่วนนี้เช่นเดียวกัน
       
ผู้ดำเนินรายการ :     เมื่อเพราทราบว่า การยกระดับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่มาตรฐานระดับอาเซียนและสากลสามารถทำให้เกิดการเทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานอาชีพของไทยกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนในระดับการศึกษาและสาขาอาชีพได้ สุดท้ายนี้ ท่านผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษาต้องการฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา
       
ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา :     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาต้องการให้ท่านผู้ฟังทางบ้านทราบว่า ในระดับนโยบายควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยควรมีการขับเคลื่อน นอกจากนี้คณะกรรมการซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และสิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต หรือการยกระดับฝีมือแรงงานของคนที่อยู่ในภาคอาชีพ ภาคประกอบการ ส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลงไป ประมาณกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ให้มีทักษะที่สูงขึ้น มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเร่งรัดในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยโดยใช้ตัวขับเคลื่อนจากภายนอกเข้ามาเร่งรัดดำเนินการ คาดหวังว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่รับฟังอยู่จะช่วยกันผลัดดันให้การทำงานเรื่องนี้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวมของประเทศในอนาคต
       
ผู้ดำเนินรายการ :     วันนี้ขอขอบพระคุณ คุณเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 

  ********************************************************

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด