ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมรายการบ่ายนี้มีคำตอบน้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ปฏิรูปการศึกษาเร่งขับเคลื่อนกองทุนลดความเหลื่อมล้ำ

image

 

 

 

 

          เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมสนทนาในรายการบ่ายนี้มีคำตอบ ประเด็น “คืบหน้า ตามงาน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ถึงไหนแล้ว” ณ อาคารออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ โมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๕ น.

          ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. กล่าวว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จํานวน ๒๕ คน โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และมาตรา ๒๖๑ บัญญัติให้ในการปฏิรูปตามมาตรา ๒๕๘ จ. ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ดําเนินการศึกษาและจัดทําข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดําเนินการต่อไป  



 

          กอปศ. ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเข้าเดือนที่ ๔ โดย กอปศ. ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งลดความเหลื่อมล้ำ ที่มีระยะเวลาดำเนินงาน ๒ ปี ทั้งนี้ มีข้อค้นพบสำคัญและผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า แม้จะมีการลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับประกันว่าคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น เช่น ออสเตรเลีย ลงทุนการศึกษาสูงแต่คุณภาพการศึกษาลดลง ขณะที่ เวียดนาม มีการลงทุนน้อยกว่าแต่คุณภาพการศึกษากลับดีกว่า ไทย ที่มีการลงทุนเฉลี่ยถึงปีละ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ (ราว ๑๐๐,๘๐๐ บาท) ต่อคนต่อปี

 

          ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา กล่าวย้ำว่า กอปศ. จึงเร่งขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขและปฏิรูปการศึกษาอย่างตรงจุดครอบคลุมปัญหาการศึกษาทุกด้าน ดังนั้น จึงได้รวบรวมข้อมูล ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่ทำให้การบริหารจัดการการศึกษาต้องติดขัดและไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน และเรื่องที่โรงเรียนเอกชนต้องการได้รับการสนับสนุนการจัดการศึกษาเท่ากับภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องการกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ เป็นต้น เน้นเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่ต้องลดกระบวนการกำกับควบคุมลง อีกทั้งยังต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาให้บริการด้านการศึกษามากขึ้น เหมาะสมตามแนวทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้ออกกฏหมายกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความ เหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งเสริมพัฒนาครูอาจารย์ ภายใน ๑ ปีนั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการกองทุน ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเสร็จแล้ว

 

 

 

          ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ อยู่ในขั้นรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่เกิด เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และผู้ต้องการศึกษาต่อ อย่างไรก็ดี กอปศ. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลกองทุนจะขอให้รัฐบาลเพิ่มการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู และให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระ.

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด