สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ครูสุทิน ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ สภาการศึกษา

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ครูสุทิน ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ สภาการศึกษา วันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ครูสุทิน ทองเอ็ม ครูภูมิปัญญาไทย ก่อนอื่นขอเรียนถามว่าเบื้องต้นว่าการที่ครูได้รับเลือกให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ครูได้ทำอะไรบ้าง

ครูสุทิน:ผมเกิดที่จังหวัดสุโขทัย เป็นลูกเกษตรกร เคยประกอบอาชีพรับราชการทหาร แต่ปัจจุบันรับราชการในส่วนท้องถิ่น มีความคิดว่าจะก้าวผ่านจากเกษตรกรยุคเก่าให้เป็นเกษตรยุคใหม่ในสังคมปัจจุบันให้ได้ โดยทำไร่นาสวนผสมในพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวประมาณ ๓๒ ไร่ แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย ประมง/ปศุสัตว์ และพืชสวน ทำเพื่อส่วนตัวและส่วนรวม

ผู้ดำเนินรายการ:เป็นไร่นาสวนผสม มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชต่าง ๆ สำหรับการแบ่งปันพื้นที่ลักษระรูปแบบนี้ ครูทำมาตั้งแต่เริ่มต้น หรือเพิ่งมาปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบนี้

ครูสุทิน:ในความเป็นจริงแล้ว ผมมีพื้นฐานด้านเกษตรกรอยู่แล้ว ได้ทำมาเรื่อย ๆ มีแนวคิดประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ ที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๙ มาใช้ในการประกอบอาชีพ โดยทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน

ผู้ดำเนินรายการ:ในช่วงแรกที่ครูมีความคิดแบบนี้ ทางครอบครัวมีความคิดเห็นอย่างไร

ครูสุทิน:ในช่วงแรกครอบครัวยังมีแนวคิดเก่า ๆ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป และทำให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ จนทำให้คนในครอบครัวยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ:ความคิดเก่า ๆ ที่ว่านี้ หมายถึง การปลูกพืชโดยใช้สารเคมี การปลูกพืชชนิดเดียว หรือความคิดอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ครูสุทิน:ทั้งสองส่วน คือ เกษตรกรมุ่งผลิตแต่ปริมาณ แต่ไม่เน้นคุณภาพ และมีการทำเกษตรในเชิงเดี่ยวมาก ไม่มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน จึงทำให้ช่วงระยะเวลาที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่มีรายได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดรายได้ ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่งผลให้เกิดหนี้สินขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ:เรียกได้ว่าเป็นปัญหาในยุคอดีตที่เกษตรกรทำนาอย่างเดียว หรือไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างอื่นใช่หรือไม่

ครูสุทิน:ใช่ครับ 

ผู้ดำเนินรายการ:หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรกรรม ชีวิตเป็นอย่างไร

ครูสุทิน:ในช่วงแรกการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม รายได้ยังไม่แน่นอน ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน จึงต้องนำแนวความคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๙ มาใช้ คือ ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย จึงทำให้เกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ผู้ดำเนินรายการ:เรียกได้ว่าในแรกเริ่มยังไม่ได้รายรับเป็นตัวเงิน แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาในเรื่องสุขภาพ รายจ่ายที่ลดลง เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองในเรื่องการใช้สารเคมี

ครูสุทิน:ใช่ครับ

ผู้ดำเนินรายการ:การเข้าสู่การทำไร่นาสวนผสม ต้องไปศึกษาเรียนรู้ จากแหล่งข้อมูลจากที่ไหน มีหน่วยงานใดมาให้ความรู้ หรือให้การสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร

ครูสุทิน:หน่วยงานราชการทุกหน่วยมีส่วนร่วมและคอยให้คำปรึกษากับประชาชน และเกษตรกรทุกท่านที่ให้ความสนใจ เพียงแค่เกษตรกรเดินเข้าไปหาหน่วยงานราชการ เพราะบางครั้งหน่วยงานราชการอาจจะไปไม่ถึงเกษตรกรเพราะประชาชน หรือจำนวนเกษตรกรมีจำนวนมาก 

ผู้ดำเนินรายการ:ครูจะบอกว่าแหล่งเรียนรู้มีอยู่โดยรอบ ข้อมูลมีอยู่มากมาย อยู่ที่ว่าเกษตรกรจะต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร และไปหาข้อมูลมาเพื่อแก้ไข 

ครูสุทิน:ใช่ครับ

ผู้ดำเนินรายการ:การทำเกษตรกรรมจะประสบความสำเร็จใช้เวลานานเท่าไร

ครูสุทิน:ใช้เวลาประมาณ ๑๒ ปี

ผู้ดำเนินรายการ:เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ต้องใช้ควรเพียรพยายาม ต้องขยัน อดทน ต่อแรงกดดัน

ครูสุทิน:ใช่ครับ ผมจะสอนหรือแนะนำเกษตรกรทุกคนว่า ทุกอย่างถ้าทำด้วยหัวใจ ทำในสิ่งที่ฝัน ทำในสิ่งที่ถนัด ทำด้วยความตั้งใจ และความมุ่งมั่น เมื่อเจอปัญหา อย่าท้อ ให้ใช้สติในการแก้ปัญหา จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้

ผู้ดำเนินรายการ:มีอะไรเป็นหลักยึดปฏิบัติในการทำงาน

ครูสุทิน:ผมยึดหลักแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๙ เพราะพระองค์อยู่บนฟ้า แต่พระองค์ยังลงมาอยู่บนพื้นดิน ไปถิ่นทุรกันดาร แล้วเราเป็นคนธรรมดา ทำไมจึงไม่ทำตามแนวทางของพระองค์

ผู้ดำเนินรายการ:หลังจากประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนไร่นาของตัวเองแล้ว ครูได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ครูได้รับเลือกอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร

ครูสุทิน:ต้องขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ให้โอกาสและให้เกียรติกับครูภูมิปัญญาไทยทุกท่าน เพราะครูภูมิปัญญาไทยมีความรู้ ใช้วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบคนโบราณมาปรับใช้กับยุคปัจจุบันให้เหมาะสม ในส่วนของผม ผมทำให้เห็นในเชิงประจักษ์ก่อน โดยให้คนทั่วไปยอมรับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยผมได้รับการพิจารณาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด การส่งเข้าประกวดในกิจกรรมต่าง ๆ การดำเนินงาน ผมไม่ได้ทำเพื่อประกวด แต่ผมทำเพื่อให้ชีวิตของตนเองมั่นคง เป็นที่ยอมรับของครอบครัว หลังจากนั้นจึงขยายความรู้ให้กับเพื่อนบ้าน และชุมชนต่อไป ผมได้รับการพิจารณาให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วย

ผู้ดำเนินรายการ:ยินดีกับครูด้วยที่ได้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ แสดงว่าครูได้มีการพัฒนามาโดยตลอด และการที่ได้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญา และความรู้ต่าง ๆ 

ครูสุทิน:ผมเริ่มทำตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ และค่อยขยายไปเรื่อย ๆ โดยใช้เวลา ประสบการณ์ค่อยสั่งสม จนสามารถขยายต่อยอดได้จริง เป็นที่ยอมรับของชุมชน อำเภอ จังหวัด ต่อไป นอกจากนี้ จังหวัดต่าง ๆ เข้ามาขอคำปรึกษา และขอคำแนะนำ

ผู้ดำเนินรายการ:ครูได้คิดค้นขึ้นมา ลองทำจนประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นจึงนำไปขยายผลต่อยอดต่อไป ครูมีวิธีในการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่น ๆ อย่างไร

ครูสุทิน:วิธีการในการถ่ายทอดคือ ๑) มองศักยภาพของผู้ที่จะรับสาร โดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาดู ถ้าผู้รับสารสามารถรับความเปลี่ยนแปลงได้ สามารถให้ข้อมูลได้ แต่ถ้าผู้รับสารยังไม่สามารถรับการเปลี่ยนแปลงได้ จะถ่ายทอดข้อมูลโดยค่อย ๆ ให้ข้อมูลในสิ่งที่ผู้รับสารชอบ และค่อย ๆ ขยายผลต่อไป

ผู้ดำเนินรายการ:เปรียบดังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๙ เมื่อจะทำอะไรให้กับประชาชน พระองค์จะไปสอบถามกับชาวบ้านว่าต้องการอะไร จึงค่อยทำตรงส่วนนั้น สำหรับเกษตรกรท่านอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการเรื่องการเกษตร ขอให้ครูแนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จแบบครู

ครูสุทิน:วิธีที่จะประสบความสำเร็จ คือ ต้องใช้ใจ ใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่มุ่งมั่น ไม่ศรัทธา เมื่อเจอปัญหาจะทำให้เกิดความย่อท้อและไม่กล้าเผชิญหน้า นอกจากนี้ ไม่ควรหวังผลกำไร หรือสิ่งตอบแทน ควรดำเนินการมาสักระยะให้เป็นรูปร่าง และค่อยคิดเรื่องนี้ เพราะสิ่งดี ๆ จะตามมาเอง

ผู้ดำเนินรายการ:ในพื้นที่รอบ ๆ ตอนนี้สามารถขยายแนวคิดในเรื่องไร่นาสวนผสมได้ผลมากแค่ไหน อย่างไร

ครูสุทิน:ตั้งแต่ผมได้รับการยอมรับของสังคม ได้รับรางวัลต่าง ๆ ทำให้ความศรัทธาของเกษตรกรมีมากขึ้น จึงทำให้มีเครือข่าย และขยายผลได้ ขณะนี้กำลังดำเนินการทำฟาร์มให้กับชุมชนเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชนต่อไป

ผู้ดำเนินรายการ:สุดท้ายนี้ ขอให้ครูฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา

ครูสุทิน:พื้นที่ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อยสามารถสร้างแหล่งผลิตอาหารให้กับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น ระเบียงบ้าน ลานจอดรถ พื้นที่ทางเท้า ฯลฯ เพียงแค่ใช้การศึกษาว่าพืชผักต่าง ๆ เหมาะสำหรับพื้นดินแบบใดอย่างไร การปลูกผักที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเพราะ โหระพา ผักชี ฯลฯ ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญคือขอให้พวกเราชาวไทยทุกคนเดินตามรอยเท้าพ่ออย่างแท้จริง เพราะจะทำให้ทุกคนมีความสุขแน่นอน

ผู้ดำเนินรายการ:สำหรับวันนี้ ขอขอบพระคุณ ครูสุทิน ทองเอ็ม ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๘ ด้านเกษตรกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้เกร็ดความรู้กับพวกเราในเช้าวันนี้ ขอบพระคุณ และสวัสดีครับ

********************************************************

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด