นายกรัฐมนตรีหารือคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมกำหนดทิศทางปฏิรูปการศึกษา

image

 


         วันนี้ (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษากับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส  สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  ศาสตราภิชาน รศ. ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอิสระฯ  รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาและผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม  ณ ห้องประชุม ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล



       พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา คือ ต้องเร่งรัดการปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนทั้งในส่วนกระทรวงศึกษาธิการและประเด็นปัญหาในระบบการศึกษา ทั้งการผลิตคน ผลิตครู  การเรียนการสอน การสอบ  การประเมินผล  การสอนต้องไม่ใช่รู้แต่วิชาการอย่างเดียว ต้องสอนให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น  เป็นนักวิจัยพัฒนาได้ในอนาคตด้วย  ขณะนี้ เราให้ความสำคัญการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ปฐมวัย ซึ่งต้องสอดคล้องต่อไปถึงระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมถึงต้องคำนึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย เพราะยังมีคนที่มีความจำเป็นต้องออกไปจากระบบการศึกษา เช่น ออกไปช่วยผู้ปกครองทำงาน จึงต้องมีการจัดการศึกษาให้รองรับ เช่น กศน. เพื่อให้เขาสามารถกลับมาอยู่ในระบบการศึกษาได้ในอนาคต   ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐก็ต้องชัดเจนว่างบประมาณที่ใช้ตรงเป้าหมายหรือซ้ำซ้อนหรือไม่ ควรใช้ระบบไอที ระบบบัตรประจำตัวประชาชนเข้ามาแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน และต้องมีฐานข้อมูลกลางที่สอดคล้องกับระบบงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา

 สำหรับการปฏิรูปการศึกษาได้ให้แนวทางในการปฏิรูปคือ ใน ๑ ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาลนี้ จะทำในเรื่องของโครงสร้างที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องเริ่มดำเนินการ ส่วนที่เหลือถ้ายังทำไม่ได้ก็ต้องวางอยู่ในแผนแม่บททุก ๕ ปี ซึ่งยังสามารถปรับเปลี่ยนได้  การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเท่านั้น ทั้งบ้าน วัด โรงเรียนต้องรวมมือด้วย ควรนำเรื่องศาสตร์พระราชา  เกษตรทฤษฎีใหม่  เศรษฐกิจพอเพียง มาขับเคลื่อนให้ได้  นอกจากนี้ควรเน้นเรื่องระเบียบวินัย และควรใช้  E – Learning มาช่วยในการเรียนรู้   สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาคนของเราไปสู่อนาคต ถ้าคิดแบบเดิมก็เป็นแบบเดิม เราคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้จึงต้องคิดสร้างคนให้มีคุณภาพตอบรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 
 
 

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาใน ๗ สัปดาห์  คณะกรรมการอิสระฯ ได้ประชุมแต่งตั้งโฆษกและคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ จำนวน ๖ คณะ โดยที่ประชุมได้ศึกษาและพิจารณาข้อมูล ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ ทั้งแผนการศึกษาของชาติ ๒๐ ปี รายงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา ประเด็นด้านการปฏิรูปการศึกษาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ รวมถึงศึกษาบทวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย และรายงานการวิจัยบัญชีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของไทย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการศึกษาทางไกลเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และโครงการโรงเรียนประชารัฐ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา 


 

ผ่านมาได้ร่วมประชุมกับกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเก็บข้อมูลของนักเรียนโดยใช้เลข ๑๓ หลัก ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่มีความเสถียร ทำให้การบริหารจัดการเงินสนับสนุนรายหัวของนักเรียนเกิดการจ่ายเงินซ้ำซ้อน รวมถึงปัจจุบันมีเด็กออกนอกระบบเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวง  รวมถึงควรมีการปรับเรื่องการสอบเพื่อให้สามารถวัดได้ทั้งคุณธรรม จริยธรรม  สมรรถนะทั้งการอ่านออก เขียนได้ ไม่ใช่เน้นการวัดเนื้อหาเป็นหลักเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นทั้งเรื่องคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ  ประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่คณะกรรมการอิสระฯ กำลังระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไข

 
 



นอกจากนี้ทางคณะกรรมการอิสระฯ ยังได้วางแผนดำเนินการการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐  และวันที่ ๒๕-๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในส่วนภูมิภาคครั้งที่ ๑ และวันที่ ๘ – ๙ กันยายน ๒๕๖๐ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและเก็บข้อมูลโรงเรียนบ้านขอบด้ง จังหวัดเชียงใหม่  รวมถึงได้ดำเนินการจัดทำโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค และไลน์ “ร่วมปฏิรูปการศึกษา” และเตรียมสร้างเว็บไซต์และการสื่อสารสังคมเพื่อระดมการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด