สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ วันศุกร์ที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย ดร.ชัยยศ  อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ :    รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ” ก่อนอื่นขอเรียนถามท่านถึงความเป็นมาของการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :   มาตรฐานการศึกษาของชาติ หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบการประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา  
       
    การกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนนั้น ทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Taxonomy) โดย   เบนจามิน บลูม และคณะได้อธิบายถึงพฤติกรรมหรือคุณลักษณะของมนุษย์ 3 ประการที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาที่ผู้จัดการศึกษาพึงพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนทุกคน ประกอบด้วย ๑) ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ๒) ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) และ ๓) ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คุณลักษณะของผู้เรียนตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาของประเทศในอดีต โดยในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้ว่า “ในการจัดการศึกษานั้น ท่านให้จัดการศึกษาทั้ง 4 ส่วนล้วนพอเหมาะกัน คือ จริยศึกษา ให้มีวัฒนธรรมดีงาม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน พลศึกษา ให้มีร่างกายแข็งแรงและอนามัยสมบูรณ์ กับทั้งมีน้ำใจเป็นนักกีฬา พุทธิศึกษา ให้มีปัญญา ความรู้ ความสามารถ ใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการงานโดยทั่วไป   หัตถศึกษา ให้มีความเคยชินและความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงาน เพื่อเป็นรากฐานการประกอบอาชีพ” ทั้งนี้ หลักการจัดการศึกษาดังกล่าว ได้กลายมาเป็นรากฐานของการจัดการศึกษาของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน  
       
    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีภารกิจตามมาตรา ๓๓ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในการจัดทำและพิจารณาเสนอมาตรฐานการศึกษาเพื่อให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ สกศ. จึงได้ยกร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นใน พ.ศ. 2547 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานการศึกษาของชาติตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเสนอ และให้หน่วยงานด้านการศึกษาทุกระดับนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดการศึกษาด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดมาตรฐานไว้ 3 มาตรฐาน 25 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ มาตรฐานที่ 1 คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก (คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข) มาตรฐานที่ 2 แนวการจัดการศึกษา (จัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญและการบริหารโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน) การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และมาตรฐานที่ 3 แนวการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้/สังคมแห่งความรู้ (การสร้างวิถีการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง)  
       
    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2547 ได้ประกาศใช้มาเป็นเวลามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว อาจมีเนื้อหาสาระบางส่วนไม่เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ทิศทางความต้องการของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป การต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศไทย ๔.๐ การที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการศึกษา ความคาดหวังที่ต้องการให้คนในโลกต้องมีความสามารถในโลกศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้การศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดการศึกษา การเรียนรู้เพื่อให้ได้ทักษะในศตวรรษที่ 21 จะเรียนรู้เพื่อให้ได้วิชาแกนและแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงพอ แต่ต้องได้ทั้งสาระวิชาและทักษะ 3 กลุ่ม คือ ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ซึ่งทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นประกอบด้วย 3Rs X 8Cs โดยที่ 3Rs ประกอบด้วย Reading (การอ่านออก) Writing (การเขียนได้) และArithmetic (การคิดเลขเป็น) 8Cs ประกอบด้วย Critical Thinking and Solving Problem (ทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม) Corroboration Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) Cross Cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)Communication, Information and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)Computing and Media Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)Career and Learning Self-reliance (ทักษะอาชีพและการเรียนรู้) และ Change (ทักษะการเปลี่ยนแปลง)  
       
    ดังนั้น สกศ. จึงเห็นสมควรให้มีการทบทวนและหาแนวทางในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของชาติให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สกศ. จึงได้พัฒนามาตรฐานการศึกษาของชาติ ฉบับใหม่ แทนฉบับเดิม โดยเน้นมาตรฐานด้านผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้ มาตรฐานที่ 1 ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มาตรฐานที่ 2 ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม มาตรฐานที่ 3 ผู้มีทักษะทางสังคมและการดำรงชีวิต และมาตรฐานที่ ๔ ผู้มีความเป็นพลเมือง  
       
    ทั้งนี้ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ... จำเป็นต้องมีกระบวนการในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  สกศ. จึงจัดระดมความคิดเห็นใน  ๕ ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงาน/ โรงเรียน/ สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สกศ. รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ๓ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ภาคใต้ ณ โรงแรมหรรษา เจบี จ.สงขลา ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมวีวิช จ.ขอนแก่น ครั้งล่าสุดจัดเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ภาคเหนือ ณ โรงแรมเชียงใหม่ ออคิด จ.เชียงใหม่ และในครั้งถัดไป วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ภาคตะวันออก ณ โรงแรมซีบรีซ จอมเทียน รีสอร์ท จ.ชลบุรี และวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ภาคกลาง ณ โรงแรมรอยัลเบญจา กรุงเทพฯ  
       
ผู้ดำเนินรายการ   :   
ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษาคิดว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษานี้หรือไม่
 
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    สกศ. เป็นผู้วางมาตรฐานการศึกษา ความคาดหวังในเรื่องคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคนไทย ถ้าทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกัน จะต้องช่วยกันทำ ช่วยกันมีบทบาท และมีส่วนร่วม ถ้าต้องการให้เด็กเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องการคุณลักษณะแบบใด และต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายไว้ก่อน ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องใด ต้องไปปรับหรือทบทวนต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือความคาดหวังที่ตั้งไว้  
       
ผู้ดำเนินรายการ   :   การรับฟังความคิดเห็น ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติ มีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อไร  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :   การรับฟังความคิดเห็น ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติ จะสิ้นสุดภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งหลังจากนั้นจะมาดำเนินการวิเคราะห์อีกครั้ง ถ้ายังไม่เป็นฉันทามติของคนส่วนใหญ่ อาจจะต้องมีการหารือกันใหม่ เจตานารมณ์ของมาตรฐานการศึกษาของชาติ คือ ฉันทามติของคนในสังคม  
       
ผู้ดำเนินรายการ  :   ในการกำหนดได้มีการขอความเห็นชอบว่าได้รับการยอมรับอย่างไร ที่จะถือว่าจะใช้เป็นกรอบมาตรฐานได้  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :   อย่างน้อยได้ไปหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละภูมิภาคมาแล้ว หลังจากนี้ยังมีอีกหลายเวทีที่จะได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้  
       
ผู้ดำเนินรายการ   :   การเดินสายลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติที่ผ่านมา มีประเด็นที่มีความแตกต่างที่ต้องกลับมาพิจารณาบ้างหรือไม่  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :   ประเด็นที่มีความแตกต่าง เช่น อยากให้พูดถึงแนวการจัดการศึกษา ถ้าจะจัดการศึกษาจะทำอย่างไร ครูต้องทำอย่างไร ผู้บริหารต้องทำอย่างไร โรงเรียนต้องทำอย่างไร ต้องการให้ สกศ. ขยายความต่อไปอีก ในประเด็นครู ทางคุรุสภาได้รับมาตรฐานครูแล้ว จะมีการเชื่อมโยงกันว่าจะสอดคล้องกันหรือไม่ สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องมาคุยกันว่า จะส่งผลต่อการสร้างมาตรฐานของผู้เรียนตามที่กำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของชาติไว้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะเป็นวงจรที่เชื่อมโยงกัน จำเป็นต้องมีการพิจารณากันสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ  
       
    หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็น ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติใน  ๕ ภูมิภาคทั่วประเทศแล้วนั้น สกศ. จะดำเนินการจัดเวทีโดยให้นักเรียนทุกระดับ เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติ หลังจากนั้นอาจจะมีเวทีสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองต่อไป เพราะ สกศ. กำลังเปิดประเด็นการศึกษาปฐมวัย  
       
    ขณะนี้อยู่ในกระบวนการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็น ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยต้องการหาฉันทามติเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ  
       
ผู้ดำเนินรายการ  :   ยุคสมัยเปลี่ยน องค์ประกอบรอบข้างเปลี่ยนไป มาตรฐานการศึกษาของชาติจึงต้องปรับให้เข้าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย คงต้องมีการขับเคลื่อนกันเรื่อย ๆ สุดท้ายนี้ ท่านรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) จะฝากอะไรถึงผู้รับฟังรายการรอบรั้วเสมา  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :   การศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการจัดการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครองมีบทบาทในการดูแลบุตรหลานอย่างไร เชื่อมโยงกับการสอนของครูในโรงเรียนอย่างไร สังคมจะสนับสนุนโรงเรียนอย่างไร ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น อยากฝากความคาดหวังว่าทุกท่านจะได้มีส่วนร่วมในการยื่นมือเข้ามาจัดการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๙๙/๒๐ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา”  
       
รองเลขาธิการสภาการศึกษา :    ในวันนี้ขอขอบพระคุณ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ขอบพระคุณ และสวัสดีค่ะ  


 





 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด