สกศ. ลงใต้ประเดิมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ

image


        วันนี้ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐) นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. …ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี ผู้บริหาร ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ฯลฯ เข้าร่วมประชุม

   
     
     



        นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  ดำเนินการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งมาตรฐานการศึกษาดังกล่าวใข้มาเป็นเวลา ๑๒ ปีแล้ว แต่ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ เพิ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาในปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างและพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะ และความรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มีคุณลักษณะของผู้เรียนที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ ๒๑  สกศ.  จึงดำเนินการทบทวน/จัดทำมาตรฐานของชาติฉบับใหม่ขึ้นแทนฉบับเดิม เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  

 

   
     
     


        สำหรับ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่นี้ เน้นมาตรฐานด้านผู้เรียนเป็นหลัก และจัดทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ เป้าหมายของยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ ๒๐ ปี ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ๔.๐ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔ ฯลฯ ทั้งนี้ ร่าง มาตรฐานการศึกษาของชาติที่ยกร่างขึ้นนี้จำเป็นต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สกศ. จึงจัดประชุมระดมความคิดเห็นขึ้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใน ๕ ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การประชุมที่จังหวัดสงขลานี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ครั้งที่ ๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ ๓ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ ๔ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี และครั้งที่ ๕ ภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ซึ่ง สกศ. จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดมาปรับปรุงพัฒนาร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติให้สมบูรณ์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้ต่อไป 


        นางสาวสมปอง สมญาติ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานการศึกษา และ นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ บรรยายกระบวนการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติและเป้าประสงค์ของมาตรฐาน  โดยสรุปดังนี้ สกศ. จัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรฐานดังกล่าว ประกอบด้วย ๓ มาตรฐาน คือ ๑) คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก ๒) แนวทางการจัดการศึกษา และ ๓) แนวทางการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้/สังคมแห่งความรู้ หลังจากใช้มาตรฐานมา ๑๒ ปี จากการประเมินผลพบว่ามาตรฐานที่ ๒ เป็นมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติได้ แต่มาตรฐานที่ ๑ คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลกกลับเป็นมาตรฐานที่ยังจัดทำได้น้อย ด้วยเหตุนี้ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติครั้งนี้จึงใช้หลักที่ว่า “น้อยลง สูงขึ้น ลึกมาก เหมาะยิ่ง” มาตรฐานในครั้งนี้จึง เน้นเฉพาะมาตรฐานที่ ๑ คือ คุณลักษณะของผู้เรียน แต่เนื้อหาจะมีความเข้มข้นในระดับสูง และมีสาระลึกซึ้งมากกว่าเดิม มีความเหมาะสมกับสภาพและความต้องการของพื้นที่มากขึ้น และในการยกร่างมาตรฐานฯ สกศ. ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ สำรวจลักษณะนิสัยของคนไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานส่วนหนึ่งในการยกร่างจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ งานวิจัยดังกล่าว พบว่า จุดเด่นของคนไทย ๓ ลำดับ คือ ๑) มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ๒) มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อแผ่ และ ๓) ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง สำหรับจุดอ่อน ๓) อันดับ คือ ๑) ขาดระเบียบวินัย ๒) ชอบเอารัดเอาเปรียบ/เห็นแก่ตัว และ ๓) ไม่ตรงต่อเวลา สำหรับลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยกับการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศไทย ๔.๐ ควรมีลักษณะดังนี้ ๑) ซื่อสัตย์ ไม่โกงกิน ๒) รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ๓) ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ๔) อยู่อย่างพอเพียง และ ๕) ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เป็นต้น

        การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติครั้งนี้ มีแนวทางในการพัฒนาตามหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ระบุว่าการศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ ที่เน้นให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะ 3RsX8Csm สำหรับ (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ ประกอบด้วย ๔ มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ ๑ ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มาตรฐานที่ ๒ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม มาตรฐานที่ ๓ ผู้มีทักษะทางสังคม และการดำรงชีวิต และ มาตรฐานที่ ๔ ผู้มีความเป็นพลเมือง 

        หลังจากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มที่ ๒ ครู ศึกษานิเทศก์ และกลุ่มที่ ๓ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เพื่อระดมความคิดเห็น นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา (ร่าง) มาตรฐานการศึกษาของชาติให้สมบูรณ์ต่อไป


   
     
     
     
     
     

 

   

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด