สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ประเด็น การเฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)

image

 

สรุปประเด็นการสนทนารายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา สถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 KHz ประเด็นเรื่อง การเฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) วันศุกร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๓๐ – ๐๘.๔๕ น. โดย นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ประเด็นสนทนา

ผู้ดำเนินรายการ:     รายการรอบรั้วเสมา ช่วงผู้บริหารสนทนา ในวันนี้ ได้รับเกียรติจากนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมสนทนาประเด็น “การเฉลิมฉลองวาระ ๑๕๐ ปี      ชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)” ก่อนอื่นขอเรียนถามท่านเกี่ยวกับประวัติและคุณงามความดีโดยสังเขปของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) 
       
ผอ. สกม.:     เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๑๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ และหม่อมเปี่ยม
       
      เมื่อเจริญวัย ได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักหม่อมเจ้าหญิงปุก และเข้าศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ แววแห่งปราชญ์ได้ฉายชัดมาตั้งแต่ครั้งปฐมวัย เมื่อท่านสามารถสอบไล่ได้ด้วยผลการเรียนดีเลิศ ซึ่งสอบได้ประโยคที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๒๙
       
      หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ จากนั้นย้ายมารับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เป็นพระมนตรีพจนกิจ ท่านได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นผู้อภิบาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ อังกฤษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตพิเศษไทยประจำอังกฤษและยุโรป ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๔๐ – ๒๔๔๒ นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระอภิบาลแล้ว ท่านได้ดูแลการศึกษาของนักเรียนไทยในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี  ด้วยจิตมุ่งมั่นที่จะนำข้อสังเกตต่างๆ ที่ได้รับจากการไปปฏิบัติราชการในต่างแดน ต่างพระเนตรพระกรรณมาพัฒนาชาติ  ท่านจึงได้กราบบังคมทูลเสนอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย โดยร่างเป็น "โครงแผนการศึกษาในกรุงสยาม" เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๔๑ และโครงการสร้างสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๓
       
      เมื่อกลับมารับราชการในสยามประเทศก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) จนได้วัฒนาในหน้าที่ราชการสนองพระเดชพระคุณมาโดยลำดับในตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ)  ควบกันทั้งสองตำแหน่ง โดยได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ และได้แต่งตั่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
       
      เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๖ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ปรากฏราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ศรีวิสุทธสุริยศักดิ์ อรรคพุทธศาสนวโรประการ ศิลปศาสตร์พิศาลศึกษานุกิจ บัณฑิตยการานุรักษ์ สามัคยาจารย์วิบุลย์ มาลากุลบริพัตร์ บรมขัติยราชสวามิภักดิ์ เสมาธรรมจักรมุรธาธร ศุภกิจจานุสรอาชวาธยาไศรย พุทธาทิไตรรัตนธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ” อันเป็นอิสสริยยศสูงสุดในชีวิตของท่าน
       
      คุณูปการของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี มีมากมายหลายด้าน ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน อาทิ
       
      ด้านการศึกษา ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มศึกษาวิธีการจัดการสอนในต่างประเทศ โดยมีเหตุมาจาก ในพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสทวีปยุโรปในครั้งแรกทอดพระเนตรเห็นนักเรียนไทยที่รัฐบาลส่งไปเรียนในยุโรปเรียนนานกว่าจะสำเร็จ ไม่ทันที่จะกลับมารับราชการท่านได้ศึกษาและจัดทำรายงานเปรียบเทียบถวายทั้งแบบอังกฤษและการจัดการศึกษาของญี่ปุ่น โดยท่านได้นำมาบูรณาการและทูลเกล้าฯ เสนอ เรียกว่า “ร่างโครงแผนการศึกษาในกรุงสยาม พุทธศักราช ๒๔๔๑” ในส่วนของงบประมาณนั้น ท่านได้เสนอว่า ร.ศ.๑๑๘ มีเงินที่จะสร้างโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ๑,๓๐๐ ชั่ง และโรงเรียนสวนกุหลาบ ๑,๐๐๐ ชั่งด้วย รวมทั้งยังได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนของโรงเรียนนี้ด้วยพระองค์เอง จึงนับได้ว่าท่านเป็นคนวางแผนการศึกษาได้อย่างละเอียดรอบคอบและมีความชัดเจนในการจัดการศึกษาให้ทันกับความต้องการของประเทศสมัยนั้น 
       
      ด้านการต่างประเทศ ท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นผู้อภิบาลในฐานะพระอภิบาลสมเด็จพระยุพราช พระเจ้าลูกยาเธอ และผู้ดูแลนักเรียนไทยในยุโรป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอุปทูต และอัครราชทูตมาโดยลำดับ ซึ่งตำแหน่งของท่านในสมัยนั้นได้เป็นเอกอัครราชฑูตพิเศษประจำประเทศอังกฤษและยุโรป
       
      ด้านงานเขียน ท่านได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก คือ “สมบัติผู้ดี” ซึ่งกล่าวถึงหลักปฏิบัติ ๑๐ ประการของผู้ที่มีกาย วาจา ใจ อันสุจริต โดยท่านได้เรียบเรียงไว้เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๔๕ อีกทั้งท่านยังได้เป็นผู้แต่งคำไหว้ครูขึ้น สืบมาจนกระทั่งท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้ประพันธ์บทไหว้ครูขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นบทที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านยังนิพนธ์หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียน เพื่อปลูกฝังความมีระเบียบวินัยของคนในชาติ อาทิ พลเมืองดี จรรยาแพทย์ อักขรวิธี พงศาวดารย่อ คำเทียบ ร. ล. แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก และแบบกวีนิพนธ์
                     
      ด้านงานดนตรี ท่านได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงสามัคคีชุมนุม โดยใช้ทำนองเพลง “ออลด์แลงไซน์” (Auld Lang Syne) โดยได้รับการยกย่องว่า สามารถใส่เนื้อร้องภาษาไทยเข้าไปให้สอดคล้องกับทำนองเดิมได้อย่างเหมาะสม สามารถร้องเนื้อภาษาไทยไปพร้อม ๆ กับเนื้อภาษาเดิมของเพลงได้อย่างไม่ขัดเขิน เนื้อเพลงมีความหมายลึกซึ้ง ให้ความรู้สึกถึงความสามัคคีเป็นอันดีต่อหมู่คณะ              
       
      อีกทั้งท่านได้ออกคำสั่งกำหนดให้เพลงสรรเสริญพระบารมีใช้เพียงเนื้อร้องเดียวเหมือนกันหมด ในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ เนื่องจากแต่เดิม การร้องเพลง "สรรเสริญพระบารมี" มีการแยกเนื้อร้องที่ใช้สำหรับ ทหารเรือ หรือพลเรือนร้อง นอกจากนี้ยังมีการแบ่งแยกเนื้อร้องบางวรรค บางตอน สำหรับชาย และหญิงร้องต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนในการร้อง
       
      เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๙
       
ผู้ดำเนินรายการ:     กล่าวได้ว่าเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นบุคคลสำคัญ หรือปูชนียบุคคลที่สำคัญในแวดวงของการศึกษามาตั้งแต่แรกเริ่ม
       
ผอ. สกม.:     ใช่ครับ แม้เวลาจะผ่านมากว่า ๑๐๐ ปี แล้วที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม แต่ผลงานและคุณูปการของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ยังปรากฏชัดให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงและสีบสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ผู้เป็นบุตรชายของท่าน ได้นำปณิธานด้านการศึกษามาสืบสานและพัฒนาให้ปรากฏประจักษ์ชัดในปัจจุบัน
       
      เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการการศึกษา ผู้ริเริ่มและวางรากฐานแผนการศึกษาของชาติ ตลอดจนบุกเบิกการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา อีกทั้งผลงานมากมายที่ท่านได้ฝากไว้ กอปรด้วยคุณูปการเป็นอเนกปริยาย ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้มีมติ ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๘ (พุทธศักราช ๒๕๕๘) ประกาศยกย่องเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๘) เป็นบุคคลสำคัญของโลก พุทธศักราช ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ กอปรกับในโอกาสที่พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นวาระครบ ๑๕๐ ปีชาตกาลของท่าน รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ระลึกถึงคุณูปการที่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีบำเพ็ญเป็นหิตานุหิตต่อวงการการศึกษาไทย สมควรที่จะยกย่องและประกาศเกียรติคุณของท่านในฐานะบุคคลสำคัญของโลกให้ปรากฏแผ่ไพศาลสืบไป
       
ผู้ดำเนินรายการ:     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้วางแผนการจัดกิจกรรมในวาระ ๑๕๐ ปี แห่งชาตกาล ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) อะไรบ้าง
       
ผอ. สกม.:      สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการจัดพิธีประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถาและเสวนา ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  ตอน “การศึกษาคือรากของแผ่นดิน” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมวิชาการครั้งแรกในการเฉลิมฉลองยกย่องเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมพูนทรัพย์ นพวงศ์  ณ อยุธยา อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
      เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๐ การจัด “ปาฐกถา ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ตอน จรรยาแพทย์” ในวันพุธที่ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น ๑ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
       
      และในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีกำหนดการดังนี้ เวลา ๑๔.๐๐ น. มีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานในโอกาส ๑๕๐ ปี      ชาตกาล ณ ห้อง ๑๑๑ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล  รอดคล้าย  เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมถวายการต้อนรับ 
       
      นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงประวัติชีวิตและผลงานที่มีต่อการวางรากฐานระบบการศึกษาของไทย ได้แก่ นิทรรศการ “มาลากุลน้อมภักดี” โดย คณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรม ๑๕๐ ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี นิทรรศการ “พระเสด็จสุเรนทราธิบดีรฤก” โดย ทายาทเจ้าพระยาพระเสด็จฯ นิทรรศการ “เอกสารบันทึกคุณูปการ” โดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักหอสมุดแห่งชาติ นิทรรศการ “วรกุมารศึกษา” โดย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นิทรรศการ “กัลยาสิกขาปทาน” โดย โรงเรียนราชินี นิทรรศการ “ประดิษฐานเสาวภา” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา นิทรรศการ “จรรยาแพทย์วิสุทธิ์” โดย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นิทรรศการ “เร่งรุดเชิงชาญช่าง” โดย วิทยาลัยเพาะช่าง นิทรรศการ “ปลูกฝังหน้าที่พลเมือง” โดย โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และนิทรรศการ “ครูดีศรีแผ่นดิน” โดย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
       
ผู้ดำเนินรายการ:     พิธีประกาศเกียรติคุณได้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เปิดรับให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมพิธีดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร 
       
ผอ. สกม.:     ได้ครับ เปิดให้ลงทะเบียนในช่วงบ่าย และรับเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.onec.go.th และ Facebook Fanpage “เด็กไทยในฝันโดยสภาการศึกษา” 
       
ผู้ดำเนินรายการ:     วันนี้ ขอขอบพระคุณ นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่มาให้ความรู้จะเป็นประโยชน์ และมอบหนังสือ “เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ซึ่งเรียบเรียงโดย คุณหญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แก่ผู้รับฟังรายการที่โทรศัพท์มาติชมและแสดงความคิดเห็นในวันนี้ วันนี้ขอขอบพระคุณและสวัสดีครับ
       
      ........................................................................
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด