สกศ. จัด workshop ดีไซน์ระบบธนาคารหน่วยกิต หนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงแนวทางสะสม-เทียบโอน ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

วันที่ 2 - 3 เมษายน 2568 ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การออกแบบระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อรองรับการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ ผศ.ดร.ศรายุทธ ทองอุทัย ผู้บริหาร/ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ร่วมประชุม ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
วันที่ 2 เมษายน 2568 ดร.สิริพงศ์ กล่าวเปิดงานและมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตและกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) เน้นถึงการพัฒนาระบบการศึกษาให้ให้สอดรับกับแนวทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ความสนใจของผู้เรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในโยบายหลัก คือ “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” ด้วยการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ในปีที่ผ่านมาได้จัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังเผชิญอุปสรรคในระดับปฏิบัติการ เนื่องจากความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องระดมไอเดียสู่การออกแบบระบบและพัฒนาคู่มือเชิงปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น เพื่อกระตุ้นสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยดึงคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และเปิดกว้างทางโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า ระบบธนาคารหน่วยกิตจะช่วยพัฒนาการศึกษาให้มียืดหยุ่นและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน โดยระบบนี้เปรียบเสมือนระบบของธนาคารที่ทุกแห่งต้องมีมาตรฐานเดียวกัน สามารถรับรองผลการเรียนรู้จากสถานศึกษาต่าง ๆ ได้ โดย สกศ. จะพยายามถอดโจทย์บทเรียนสู่การพัฒนาคู่มือ เพื่อวางระบบและโครงสร้างระบบธนาคารหน่วยกิตกับ NQF ผลักดันการศึกษาที่เชื่อมโยงกัน การสร้างเครือข่ายสถานศึกษาขยายความร่วมมือกับหน่วยงาน/สถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มนักกีฬาที่นอกจากฝึกทักษะเฉพาะทางก็สามารถเรียนแบบสะสมหน่วยกิตและนำไปต่อยอดในอนาคตได้
จากนั้นที่ประชุมร่วมรับฟังการนำเสนอแนวทางดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และอุดรธานี ความก้าวหน้าในการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการสะสมและเทียบโอนในระบบธนาคารหน่วยกิตของ ภูเก็ต นครสวรรค์ และยะลา ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ดีเช่น การใช้ระบบธนาคารหน่วยกิตเก็บสะสมหน่วยกิต 3 รูปแบบ คือ เก็บในหลักสูตรต่อเนื่อง เก็บแบบคู่ขนานระหว่างหลักสูตรที่กำลังศึกษากับหลักสูตรที่สูงกว่า และการเก็บแบบไม่มีชั้นเรียน ควบคู่ไปกับมีระเบียนควบคุมวุฒิบัตรที่เชื่อมโยงกันระหว่างสถานศึกษาในจังหวัด และแบ่งกลุ่ม Workshop ร่วมออกแบบและระดมความคิดเห็นต่อระบบธนาคารหน่วยกิตรองรับการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
วันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายผลการออกแบบระบบธนาคารหน่วยกิตรองรับการสะสมและเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พบประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การมีแพลตฟอร์มกลางและฐานข้อมูลงานทะเบียนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ การต่อยอดหลักสูตรจากการเรียนแบบ Pre-Degree สู่ Micro Credential มาตรฐานการของวัดประเมินผล คู่มือการปฏิบัติ นโยบายและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน สิ่งสำคัญควรเริ่มจากสื่อสารสร้างการรับรู้แก่สถานศึกษา บุคลากร รวมถึงผู้ปกครอง นับเป็นความท้าทายในช่วงเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลที่ AI เข้ามามีบทบาทกับการศึกษามากขึ้น โดยหวังให้การออกแบบระบบนี้จะเป็นการก้าวสร้างปรากฏการณ์ทางการศึกษารูปแบบใหม่ที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารหน่วยกิตกลางจะติดตามความก้าวหน้า พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานกับศึกษาธิการจังหวัดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

