สกศ. ถอดบทเรียน ๕ ปี ยกระดับทรัพยากรมนุษย์ รองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ ๑๓ ก้าวสู่ความท้าทายใหม่ BANI World

image

วันนี้ (๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง “๕ ปี ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปฏิรูปการศึกษา : บทเรียน ความท้าทาย และปัจจัยสู่ความสำเร็จ” โดยมีที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน ครู นักเรียน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ YouTube ภายใต้ชื่อ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา” ร่วมแชร์

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี วางรากฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา สกศ. มุ่งเน้นให้เยาวชนของประเทศมีศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา อยู่ในตัวตนของผู้เรียน ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๕ กำลังจะสิ้นสุด จึงต้องติดตามความสำเร็จและวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค ทบทวนการจัดทำแผนแม่บทใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ สกศ. ในฐานะเข็มทิศการศึกษาของประเทศ มุ่งหวังหลอมรวมเครือข่ายเสาหลักเศรษฐกิจไทย ร่วมกันสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง พัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) ที่เตรียมประกาศใช้เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ตอกย้ำมิติการพลิกโฉมประเทศ หมุดหมายที่ ๑๒ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่า “คนไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต” ระบุเป้าหมายสำคัญ ๓ เรื่อง ดังนี้ ๑) พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มศักยภาพ มีดัขนีพัฒนาการเด็กสมวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘๘ ผลิตแรงงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔ ต่อปี ๒) พัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต มีคะแนนความสามารถในการแข่งขันด้านทักษะของ World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ และ ๓) ส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีคะแนนประเมินสมรรถนะผู้ใหญ่ของไทย ไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทั้งนี้การพัฒนากำลังคน จะต้องเชื่อมโยงทุกเป้าหมายหลักร่วมกัน เช่น เป้าหมายการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ เป้าหมายการพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ และเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

 

 

ก้าวต่อไปของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มองไปข้างหน้าว่า การสร้างคนไม่ใช่แค่การผลักดันเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ควรผลักดันด้านสังคม ศึกษาจากพฤติกรรมใหม่ของคนกลุ่ม Gen Z เรียนรู้การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม และการศึกษาต้องสร้างคนสู่งานที่ตรงความต้องการและการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น ทำให้ “คนพร้อมใช้ชีวิต” คาดหวังให้การศึกษาเป็นกลไกสร้าง Soft Power ของประเทศไทย พร้อมเสนอการวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างการศึกษากับตลาดแรงงาน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

ทั้งนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม : บทเรียนจากอดีต สู่ความท้าทายในอนาคต ซึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างคน ขั้นแรกคือบูรณาการหน่วยงานระดับนโยบาย จึงเสนอให้ สกศ. และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมคิด ร่วมสร้าง วางแผน Blueprint ลักษณะผู้เรียนที่เหมือนกัน เพื่อพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษาในทิศทางเดียวกัน

ช่วงท้ายการบรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดการศึกษาหลังแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า VUCA World อาจล้าสมัย โลกใหม่ก้าวสู่ยุคของ BANI World อดีตอาจไม่สามารถทำนายอนาคต เป็นโลกของความเปราะบาง ง่ายที่จะแตกและไม่เป็นเส้นตรง ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นการจัดการศึกษาต้องสร้างทักษะยุคใหม่ เช่น การคิดแก้ไข (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) การวางแผนและรู้จักวิธีการทำงาน (Planning and ways of working) และการปรับตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Mental Flexibility)

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด